“ออม Idol” ต้นแบบเยาวชนนักออม ผลผลิตจาก “ค่ายการเงินทิสโก้” ต่อยอดสู่ชุมชน
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 51 | คอลัมน์ Giving
ในโอกาสดำเนินธุรกิจครบรอบ 50 ปี กลุ่มธนาคารทิสโก้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดประกวด “ออม Idol Awards 2019” ขึ้น โดยเป็นเวที “แชมป์ชนแชมป์” ที่นำทีมชนะเลิศการประกวดกิจกรรมต่อยอดการออมสู่ชุมชนของค่ายการเงินธนาคารทิสโก้ แต่ละรุ่นนับตั้งแต่ริเริ่มกิจกรรมในปี 2556 มาขึ้นเวทีประกวดผลงานการต่อยอดกิจกรรมกันอีกครั้ง เพื่อสร้าง ‘ออม Idol’ หรือ “เยาวชนต้นแบบการออมระดับประเทศ” ที่มาพร้อมทั้งความรู้ มีพฤติกรรมการออมที่ดี และยังเป็นแกนนำในการเผยแพร่ชักชวนเพื่อน ครอบครัว และชุมชนให้หันมาใส่ใจการออมและสร้างวินัยทางการเงิน คู่ควรกับการเป็น “ไอดอล” หรือแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคมอย่างแท้จริง
สมศักดิ์ศรี “แชมป์ชนแชมป์”
การประกวด “ออม Idol Awards 2019” แม้จะเกิดขึ้นเป็นปีแรก แต่ทั้งผลงานการต่อยอดความรู้ทางการเงินและวินัยการออมสู่ชุมชนตลอดจนวิธีการนำเสนอที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด เข้มข้น และเต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นความตั้งใจอย่างมากของน้องๆ “แชมป์เก่า” ทั้ง 7 โรงเรียน ที่ผ่านเข้าสู่รอบการประกวดระดับประเทศ ได้แก่ โรงเรียนมัญจาศึกษา จ.ขอนแก่น ผู้ชนะเลิศรุ่น 7 และ 17 โรงเรียนเทพศิรินทร์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ผู้ชนะเลิศรุ่น 1 และ 3 โรงเรียนแวงพิทยาคม จ.สกลนคร ผู้ชนะเลิศรุ่น 7, 9 และ 11 โรงเรียนสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี ผู้ชนะเลิศรุ่น 13 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา ผู้ชนะเลิศรุ่น 4, 8, 10, 12 และ 15 โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม จ.ขอนแก่น ผู้ชนะเลิศรุ่น 5 และ โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม ผู้ชนะเลิศ รุ่น 14
ในการประกวดเพื่อหาทีมชนะเลิศครั้งนี้ต้องบอกว่า ผลงานความสำเร็จ ความมุ่งมั่นทุ่มเทในการลงพื้นที่ รวมไปถึงความตั้งอกตั้งใจในการนำเสนอของน้องๆ ทุกทีม ล้วนสร้างความประทับใจและสร้างความหนักใจในการตัดสินให้กับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง ไอเดีย “สมุดบัญชีชนวนชวนออม” ของทีมโรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของคนในชุมชนบนแนวคิดที่ว่า “อิสระทางการออมไม่จำกัดเพียงตัวเงิน”
แนวคิดดังกล่าวต่อยอดมาจากสมุดบันทึกรายรับ-รายจ่าย แบบเดิม ด้วยการเพิ่มช่องในการบันทึกการออมที่ไม่จำกัดแค่รูปแบบตัวเงินภายใต้ “กรอบทรัพยากร 5 ด้าน” ซึ่งข้อดีของบัญชีชนวนชวนออม คือ ไม่เพียงสร้างแรงจูงใจในการออมที่เป็นตัวเงิน ยังสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ดีที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินและสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อีกด้วย เช่น การวิ่งทำให้สุขภาพแข็งแรง ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในวันหน้า สามารถบันทึกลงในช่อง “ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “สุขภาพและปัญญา” เป็นต้น
“แวงพิทยาคม” แชมป์ “ออม Idol Awards 2019”
การประกวดเป็นไปอย่างสนุกสนานขับเคี่ยวกันอย่างสูสี จนคณะกรรมการต้องใช้เวลาหารือกันอยู่นานกว่าจะสรุปผลการตัดสินได้ ซึ่งปรากฏว่า “ทีมเงินมีชีวิต” โรงเรียนแวงพิทยาคมคว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากความโดดเด่นและ Passion อันแรงกล้าที่มีต่อการออม และความปรารถนาให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการทำงานอย่างหนักในการลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้ชุมชน จนได้โครงงานสร้างวินัยทางการเงินในธีม “ออมง่าย ลดจ่าย รายได้เพิ่ม” ที่นำองค์ความรู้จากทิสโก้เรื่อง “ออมก่อนใช้สร้างวินัยทางการเงิน” และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาต่อยอดเป็นกิจกรรมที่หลากหลายตามขั้นตอน “บันได 7 ขั้น” “เงินเป็นของนอกกาย แต่ก็เป็นเหมือนเงาที่ตามตัวเราไปตลอดชีวิต คนต้องมีลมหายใจถึงจะมีชีวิต แล้วเงินต้องการอะไรหล่อเลี้ยงให้หมุนเวียน (มีชีวิต) อยู่ได้ วัฏจักรของเงินนั้นถ้าแค่รู้จักหากับรู้จักเก็บ สักวันเงินก็อาจหมดไปเราเลยมองว่าต้องมีกลไกที่ 3 คือการลงทุนเพื่อทำให้เงินมีชีวิต เป็นที่มาของแนวคิด “เงินมีชีวิต”
กิจกรรมเงินมีชีวิตตามขั้นตอน “บันได 7ขั้น” เริ่มด้วยการศึกษาชุมชน สร้างองค์ความรู้บนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม รับฟังความคิดเห็นปฏิบัติภารกิจร่วมกัน และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสอดแทรกภารกิจเพิ่มขึ้นในระหว่างกิจกรรม โดยคำนึงถึงความสมดุลของแต่ละครอบครัว บนพื้นฐานความพอประมาณมีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันสุดท้ายติดตามผลการดำเนินงานและสานต่อกิจกรรม พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนอื่น หลังจากลงพื้นที่สำรวจปัญหาในชุมชนน้องๆ พบว่าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่คำนึงถึงอนาคตจึงไม่มีเงินเก็บ และมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงเป็นหนี้ ดังนั้น ต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการบริหารเงินและการออม โดยสร้างสรรค์กิจกรรมเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มกิจกรรมแรก “ออมก่อนใช้ 10%” ภายใต้กลุ่มนี้ต้องมีการบันทึกรายรับและต้องออมก่อนใช้ 10% ทุกครั้ง พร้อมทั้งมีการปรับทัศนคติให้ออมมากขึ้น กลุ่มกิจกรรมที่ 2 “ลดรายจ่าย” ต้องบันทึกรายรับรายจ่ายของบัญชีครัวเรือน และหากิจกรรมลดรายจ่ายพื้นฐาน เช่น การจัดการขยะเป็นปุ๋ย การใช้จุลินทรีย์ในการเกษตร การทำไม้กวาดจากขวดพลาสติก ฯลฯ พร้อมทั้งมีการจัดค่ายครอบครัวนักออมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการลดค่าใช้จ่ายซึ่งกันและกัน และกระตุ้นให้สมาชิกในครอบครัวร่วมรับผิดชอบการเงินในครัวเรือนของตน
ทั้งนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนในการบริหารเงินภายในครัวเรือน น้องๆ จึงออกไอเดียให้แกนนำปฏิญาณตนในวันสำคัญต่างๆ ว่าจะปฏิบัติกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการเพิ่มพลังศรัทธาในกิจกรรมได้เป็นอย่างดี
สำหรับกลุ่มกิจกรรมที่ 3 “เพิ่มรายได้” จากการขายขยะ ขายไม้กวาดขวดพลาสติกที่ทำเอง ฯลฯ ร่วมกับกิจกรรมต้นทุนเงิน 1,000 บาท ซึ่งเป็นกิจกรรมไฮไลต์ โดยผู้ที่จะขอรับเงินต้นทุนได้ต้องมีการเสนอแผนการบริหารเงินและวิธีการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนชัดเจนในระยะเวลาที่กำหนด และต้องปฏิบัติโครงงานอย่างเปิดเผย ยินดีให้ติดตาม และที่สำคัญต้องบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างเคร่งครัด และเมื่อครบกำหนดคืนเงิน ต้องแชร์ประสบการณ์ในวันสรุปผลโครงงาน ซึ่งผลปรากฏว่าทุกคนปฏิบัติตามเป็นอย่างดีและมีกำไรจากเงินลงทุนคู่ควรจะเป็นต้นแบบให้กับคนอื่นในชุมชนได้
“ผลความสำเร็จของโครงการ มีชาวบ้านร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น 251 ครัวเรือนสร้างเครือข่ายส่งเสริมการออมด้วยการลงนาม MOU กับ 11 หมู่บ้าน 7 โรงเรียนระดับประถมและ 3 องค์กรในตำบลแวง เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง และมีการติดตามผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า “ออมก่อนใช้ 10%” มีจำนวน 212 ครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1 รายการ 166 ครัวเรือน เพิ่มรายได้จากการคัดแยกขยะขาย 82 ครัวเรือน ส่วนกิจกรรมต้นทุนเงิน 1,000 บาท สร้างกำไรจากการลงทุนได้กว่า 13,520 บาท เฉลี่ย 1,452 บาทต่อคน ผลสำเร็จทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพกลายเป็นความภาคภูมิใจในกิจกรรม เหนือสิ่งอื่นใด คือการที่ทุกคนได้รับรู้ว่าการออมก่อนใช้ดีที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการลงมือปฏิบัติและทำต่อเนื่องเป็นวินัย และรู้จักบริหารเงินให้เติบโต” น้องๆ ทิ้งท้าย
เต็มที่ด้วยเนื้อหา เต็มอิ่มกับเสียงหัวเราะ
การถ่ายทอดความรู้ด้านการเงินและวินัยการออมสู่ชุมชนเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างจริงจังแต่น้องๆ กลับถ่ายทอดออกมาได้อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะทีมสุดท้ายอย่าง โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ ที่แม้จะเป็น “น้องใหม่” ที่มาเข้าค่ายครั้งแรกก็เอาชนะใจคณะกรรมการได้อย่างอยู่หมัดจนคว้าแชมป์ไปครอง การกลับมาครั้งนี้ พวกเขาพกความสดใสและความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการเปิดตัวอย่างสนุกสนานผ่านภาษาอีสานสุดม่วนชวนให้ติดตาม
หลังจากเข้าค่ายการเงินทิสโก้ น้องๆ ได้นำความรู้เรื่องการออมทั้งหมดไปประยุกต์กับความคิดสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุก การออมอย่างสร้างสรรค์และการลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย จากนั้นจึงกระจายความรู้ไปสู่ชุมชนชนผ่านโครงการ “ระเบิดความรู้ มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และเพื่อบ่มเพาะวินัยในการออมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนยุคดิจิทัล น้องๆ จึงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ เช่น การนำแอปพลิเคชัน Fast Budget ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีมาช่วยให้การออมทำได้ง่ายขึ้น รวมถึง การจัดทำ การจัดทาขึ้น ปสู่ชุมชน้องๆ ได้นำ Page Facebook “ทิสโก้โอมจงออม” และ Line ขึ้นมา เพื่อเป็นเครือข่ายในการกระจายข้อมูลและสร้างสังคมการเรียนรู้เรื่องการวางแผนการออมและเทคนิคการออมในวงกว้าง
“ไม่มีเครือข่ายชุมชนไหนในนครพนมที่ไม่รู้จัก “ทิสโก้โอมจงออม” แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการที่ทิสโก้โอมจงออมสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของคนในสังคม ให้หันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น ทำให้เราเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้มีส่วนสำคัญในการทำให้คนในชุมชนที่เคยมีพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่เป็นระบบระเบียบกลับมามีแบบแผนมีวินัยในการออมที่ดีขึ้นด้วยเทคนิคการออมที่เราทำให้เป็นเรื่องสนุก เช่น การออมแบบ “คุกกี้รัน” ที่จะท้าทายผู้ออมด้วยการอัพเลเวล (Up Level) การออมขึ้นไปเรื่อย ๆ”
นอกจากการออม น้องๆ ยังไม่ลืมกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงการหารายได้เสริมเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยมุ่งเน้นที่พื้นฐานอาชีพในชุมชนท้องถิ่น เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นแพหญ้าแฝก ซึ่งเป็นนวัตกรรมของชุมชนที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด จนทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถนำไปปลดเปลื้องภาระหนี้สินที่มีอยู่และมีเงินออมเพื่อชีวิตที่ดีในอนาคตตามเป้าหมายการออมที่ได้วางไว้ได้ และท้ายที่สุดน้อง ๆ ไม่ลืมที่จะถอดบทเรียนในกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด รวมถึงส่งต่อกิจกรรมไปสู่น้องรุ่นถัดไป
หลากความเห็นหลายมุมมอง
คุณนิว-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ นักแสดงที่ให้เกียรติมาเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ ให้ความชื่นชมน้องทั้ง 7 ทีม ทั้งในแง่ของการลงพื้นที่และการนำเสนอ “ค่ายการเงินทิสโก้เป็นโครงการที่ดี เพราะส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักออมตั้งแต่อายุยังน้อย จริงๆ ผมก็เป็นคนออมตั้งแต่เด็ก แต่ยังออมผิดวิธีคือได้เงินค่าขนมจากที่บ้านมาเท่าไหร่ก็เก็บหมดเลย ไม่ซื้อขนมเลย พอเพื่อนซื้อขนมมากิน เราก็ไม่มีกินเรียกว่าออม 100% ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช้วิธีที่ถูกสักเท่าไรพอมาฟังน้อง ๆ จึงได้รู้ว่ามันมีเทคนิคการออมหลายแบบให้เหมาะกับแต่ละคน แต่หัวใจสำคัญคือต้องออมก่อนใช้ แล้วควรต้องนำเงินไปลงทุนด้วย เพื่อความยั่งยืน เหมือนกับที่น้อง ๆ “ออม Idol’ ทั้ง 7 ทีมนำเสนอถือว่าเป็นเนื้อหาที่ดีมาก”
ปิดท้ายด้วยความเห็นจาก คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าภาพจัดประกวด “ค่ายการเงินฯ เกิดจากความตั้งใจของทิสโก้ที่จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญที่เรามี ไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างโดยกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อบ่มเพาะให้เกิดเยาวชนนักออม โดยหวังว่าเขาจะได้ใช้ “ทักษะการออม” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตไปต่อยอดวิชาชีพ ถือเป็น “วิชาชีวิต” ที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้สอน เมื่อเยาวชนนำทักษะนี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันก็น่าจะช่วยทำให้ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย ที่ส่วนมากมักเริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจลดลงได้ แล้วถ้าน้องๆ นำความรู้ และศักยภาพที่มีไปใช้เป็นกำลังในการถ่ายทอดความรู้และวินัยทางการเงินไปยังชุมชนและคนรอบข้าง ผ่านกิจกรรมต่อยอดความรู้ของทิสโก้ที่หวังผลด้านความต่อเนื่อง ก็น่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้สังคมไทยแข็งแรงขึ้นได้ในระยะยาว”
คุณศักดิ์ชัย ยังให้มุมมองในฐานะกรรมการว่า หลังจากได้รับฟังผลงานของทั้ง 7 ทีม ก็เกิดความปลื้มปริ่มจากการได้เห็นความพยายามต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางการเงินและวินัยการออมสู่ชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นมาเรื่อยๆ ซึ่งยุวชนนักออมเหล่านี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทิสโก้เกิดความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนค่ายการเงินฯ ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์การออม” ให้เพิ่มจำนวนขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่สังคม
ความเป็นมา “ค่ายการเงินธนาคารทิสโก้”
ค่ายการเงินธนาคารทิสโก้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวทางการเงิน ภายใต้แนวคิด “ออมก่อนใช้ สร้างวินัยทางการเงิน” มีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังความรู้ทางการเงิน ตลอดจนแรงบันดาลใจและวินัยในการออมให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวะศึกษาจากทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเห็นนักออมรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นในสังคมไทย และเห็นการขยายผลความรู้ทางการเงิน จากเยาวชนเหล่านี้ไปสู่ครอบครัวและชุมชนใกล้เคียงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ แล้วเก็บผลลัพธ์ ของการจัดกิจกรรมมาจัดทำเป็นรายงาน เพื่อส่งเข้าประกวดหาผู้ชนะในแต่ละรุ่น
ตลอด 7 ปี กลุ่มธนาคารทิสโก้จัดค่ายการเงินฯ ไปแล้ว 18 รุ่น มีโรงเรียนที่เข้าร่วมถึง 499 โรงเรียน ครบทั้ง 77 จังหวัด และมีโรงเรียนที่รับรางวัลชนะเลิศครบทุกภาคทั่วประเทศแล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นครูและนักเรียนกว่า 2,000 คน ก่อให้เกิดการต่อยอดความรู้ไปสู่ผู้คนในชุมชนกว่า 5.2 แสนคนทั่วประเทศ