ประกันภัยโรคหลอดเลือดสมอง ตัวช่วยในการรับมือผลกระทบด้านการเงิน
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 69 | คอลัมน์ Health Protection Advisory
เมื่อพูดถึงโรคหลอดเลือดสมอง หลายคนอาจนึกถึงภาพของการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการฟื้นฟูที่ยาวนาน หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยสูงถึง 349,126 ราย และเสียชีวิต 36,214 ราย ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองนี้ นอกจากส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของผู้ป่วยและครอบครัวแล้ว
การรับมือกับภาระทางการเงินถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาลครั้งแรกที่เจ็บป่วย การรักษาต่อเนื่อง การฟื้นฟู ตลอดจนค่าดูแลผู้ป่วยระยะยาว ค่าปรับปรุงที่อยู่อาศัย รวมถึงการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดผลกระทบด้านการเงินได้คือการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาระเหล่านี้ และในบางกรณีอาจเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
รูปแบบของประกันชีวิตและประกันสุขภาพแต่ละชนิดมีลักษณะความคุ้มครองที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละชนิดมีจุดเด่นที่ช่วยรับมือผลกระทบทางการเงินในลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งอาจแบ่งเบื้องต้นได้ดังนี้
1. ความคุ้มครองขณะรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล (In-Patient Department: IPD)
ประกันสุขภาพแบบพื้นฐานมักครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลขณะรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถใช้ประโยชน์จากความคุ้มครอง IPD ในการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงการรักษาตัว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก โดยความคุ้มครองอาจประกอบด้วย
– ค่าห้องพักและค่าบริการในโรงพยาบาล เช่น ค่าห้องพักในโรงพยาบาลซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามความคุ้มครอง และค่าบริการทางการแพทย์ เช่น ค่าพยาบาลและการดูแลทั่วไป
– ค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด และค่ายา
– ค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือด การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ค่าตรวจวินิจฉัย (CT Scan, MRI)
– ค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่ารถพยาบาล
ตัวอย่าง คุณสมชายป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองโดยไม่คาดคิด ทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาสองสัปดาห์ ค่าใช้จ่ายในการรักษารวมทั้งค่าห้องพัก ค่ายา และค่าแพทย์ ซึ่งคุณสมชายมีประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองผู้ป่วยใน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ทำให้คุณสมชายไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และสามารถมุ่งมั่นในการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพได้เต็มที่
2. ความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (Out-Patient Department: OPD)
ความคุ้มครองผู้ป่วยนอกหลังผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนัดติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำและการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
– ค่ายาและเวชภัณฑ์ เช่น ค่ายารักษาโรค และค่าเวชภัณฑ์อื่น ๆ ที่จำเป็น
– ค่าปรึกษาแพทย์ เช่น ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การตรวจติดตามอาการ และการปรึกษาเพื่อการรักษาต่อเนื่อง
– ค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือด การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ค่าตรวจวินิจฉัย (CT Scan, MRI)
– ค่ากายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น ค่าบริการกายภาพบำบัดและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ตัวอย่าง หลังออกจากโรงพยาบาล คุณสมชายต้องตรวจติดตามอาการทุกเดือน ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและค่าปรึกษาแพทย์ ค่ากายภาพบำบัด ซึ่งความคุ้มครองผู้ป่วยนอกช่วยให้สามารถรับการตรวจรักษาได้อย่างต่อเนื่อง
3. ความคุ้มครองโรคร้ายแรง (Critical Illness: CI)
ความคุ้มครองโรคร้ายแรงจะให้การชดเชยเป็นเงินก้อนเมื่อผู้ถือกรมธรรม์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เงินชดเชยนี้ สามารถใช้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งใช้ในการชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงที่ไม่สามารถทำงานได้ ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยเสริมความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ป่วยและครอบครัวในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ตัวอย่าง เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และมีลักษณะตรงตามเงื่อนไขความคุ้มครองโรคร้ายแรง คุณสมชายได้รับเงินชดเชยจากประกันโรคร้ายแรงเป็นเงินก้อน เงินนี้ช่วยให้คุณสมชายสามารถปรับปรุงบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูร่างกาย เช่น การติดตั้งราวจับและปรับเปลี่ยนห้องน้ำ นอกจากนี้ยังช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ครอบคลุมโดยประกันสุขภาพ เช่น ค่าเดินทางไปรักษาตัวตามนัด หรือค่าจ้างผู้ดูแลผู้ป่วย
4. ความคุ้มครองการชดเชยรายได้ (Hospital Benefit: HB)
เมื่อเจ็บป่วยจนต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจกระทบรายได้ของผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคที่มีความรุนแรงเช่นโรคหลอดเลือดสมอง อาจมีความจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลยาวนาน ยิ่งส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้น ความคุ้มครองการชดเชยรายได้จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้
ตัวอย่าง ในช่วงที่คุณสมชายต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ความคุ้มครองการชดเชยรายได้ ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยให้เงินชดเชยตามจำนวนวันที่คุณสมชายรักษาตัวในโรงพยาบาล เงินชดเชยนี้ช่วยให้ครอบครัวของเขาสามารถรักษาระดับรายได้และคงคุณภาพชีวิตได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
5. ความคุ้มครองการเสียชีวิต (Life Insurance)
ในการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตจะมีความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิตเป็นพื้นฐาน เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง อาจทำให้ครอบครัวขาดเสาหลักและกระทบความมั่นคงทางการเงินของคนใกล้ชิดอย่างรุนแรง การทำประกันชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงโดยการคุ้มครองตามทุนประกัน ช่วยให้ครอบครัวสามารถนำเงินก้อนไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น เช่น ทุนการศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย หรือการดูแลด้านการเงินอื่น ๆ ต่อไป
ตัวอย่าง ในกรณีที่คุณสมชายไม่สามารถฟื้นตัวและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ครอบครัวของเขาจะได้รับเงินชดเชยจากประกันชีวิต เงินนี้จะช่วยให้ครอบครัวสามารถจัดการภาระทางการเงินในอนาคตและดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมั่นคง
การประกันภัยโรคหลอดเลือดสมอง
ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพมีความหลากหลายมากขึ้น บางผลิตภัณฑ์อาจมีทั้งความคุ้มครองผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และโรคร้ายแรงรวมกัน หรือบางผลิตภัณฑ์อาจเป็นความคุ้มครองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งผู้เอาประกันสามารถเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการ ความเสี่ยง และฐานะการเงินของตนได้ โดยควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและเข้าใจรายละเอียดอย่างถูกต้อง ตอนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากตัวแทนประกันหรือเอกสารจากบริษัทโดยตรง
ซึ่งการมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่เหมาะสม สามารถช่วยลดภาระทางการเงินและเพิ่มความมั่นคงให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับความต้องการส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแล ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ถึงแม้ว่าโรคจะรุนแรงจนเสียชีวิต ก็ยังสามารถรักษาความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัวไว้ได้