Sustainability in Substance สุขภาวะ 3 มิติ สู่องค์กรยั่งยืนอย่างแท้จริง
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 70 | คอลัมน์ FIN Coach
“องค์กรใดก็ตามที่จะ ‘Doing Well by Doing Good’ ได้นั้น ต้องเริ่มจากคนในองค์กร จึงสามารถขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จ มีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ ‘Doing Good’ ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ แต่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้สังคมวัฒนาขึ้นอย่างยั่งยืน”
หนึ่งใน ‘Key Word’ สำคัญจากคำกล่าวปาฐกพิเศษหัวข้อ ‘Sustainability เริ่มต้นที่คนในองค์กร’ ของ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในโครงการ Smart HR FINCoach โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (บลจ.ทิสโก้) ได้จัดเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสที่กลุ่มทิสโก้ครบรอบ 55 ปี ด้วยวัตถุประสงค์ให้ความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินพื้นฐานเกี่ยวกับการออม การจัดการหนี้ และการวางแผนทางการเงิน แก่กลุ่มสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ บลจ.ทิสโก้ เพื่อความสำเร็จบนเส้นทางการวางแผนทางการเงินและการลงทุนตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงเป้าหมาย ‘Smart Retirement สุขทุกวันยันเกษียณ’ และยังเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ บลจ.ทิสโก้ ในการร่วมสนับสนุนให้กลุ่มทิสโก้เป็น ‘Your Trusted Financial Advisor’ สถาบันการเงินที่ทุกคนเชื่อมั่นไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ‘ช่วยวางแผนอนาคตเพื่อ…คุณ’ ให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ไปด้วยกัน
“สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ บลจ.ทิสโก้ที่ให้เกียรติเชิญมาแลกเปลี่ยนมุมมองและพูดคุยกับผู้บริหารทุกท่านในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มธุรกิจทางการเงินทิสโก้ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 55 ปี เป็นหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่สามารถก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินใหญ่ของประเทศและของโลกได้ เป็นหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่มีความยั่งยืน สามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ผมชื่นชม บลจ.ทิสโก้ที่ได้จัดงานวันนี้ภายใต้หัวข้อ ‘FINCoach 2024’ ซึ่งผมเชื่อว่า เนื้อหาที่ตรงกับปัญหาใหญ่ในใจของผู้บริหารองค์กรในปัจจุบันก็คือเรื่อง ‘หนี้สินของพนักงาน ทักษะการวางแผน และการบริหารจัดการเงิน’ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ระดับองค์กรเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ของระดับประเทศด้วย” ดร.วิรไท สันติประภพกล่าวทักทายเริ่มต้นปาฐกพิเศษหัวข้อ ‘Sustainability เริ่มต้นที่คนในองค์กร’
ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา (Doing Well by Doing Good)
ดร.วิรไทกล่าวในช่วงเริ่มต้นว่า เกือบทุกองค์กรต่างพูดถึงความยั่งยืนหรือ Sustainability พร้อมแผนงานที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร ที่ส่วนใหญ่มักนึกถึงคำว่า ESG ที่ย่อมาจาก Environmental Social และ Governance หรือที่เรียกว่าการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจเรื่องของสังคม และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ตามแนวทาง แนวคิด หรือมาตรฐานต่าง ๆ จากภายนอก เพื่อกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืนขององค์กร เหตุนี้เอง…หลายองค์กรจึงติดอยู่ในกับดัก ซึ่ง ดร.วิรไทเรียกว่า ‘Sustainability in Form’ ที่มักเป็นการทำเช็กลิสต์มากกว่า Sustainability in Substance ซึ่งสร้างให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
“คำว่า ‘ความยั่งยืน’ เป็นคำใหญ่ มีความหมายได้หลากหลาย ผมมักนึกถึงนิยามที่สหประชาชาติกำหนด ‘Sustainable Development Goal’ หรือ SDGs หมายถึงกระบวนการพัฒนาที่ตอบโจทย์คนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่เบียดบังหรือลดทอนความสามารถที่จะตอบโจทย์ความจำเป็นของชีวิตคนรุ่นต่อไป และถ้าเราลองเอาแนวคิดเรื่อง Sustainability มาใช้ในระดับองค์กร โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ ก็ต้องหมายถึงการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์องค์กร โดยไม่ไปเบียดบังหรือลดทอนความสามารถที่จะตอบโจทย์ความจำเป็นในชีวิตของ Stakeholder และคนรุ่นต่อไป ซึ่ง Stakeholder มีความหมายกว้างที่ครอบคลุมทั้งพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ตลอดจนคนอื่น ๆ ในสังคมที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจของเรา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
“ถ้าจะแปลคำว่า Sustainability ในระดับองค์กรให้เข้าใจง่าย ๆ ผมมักจะแปลว่า ‘ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา’ โดยอาจสอดคล้องกับวลีต่างประเทศที่มักใช้คำว่า ‘Doing Well by Doing Good’ องค์กรจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อตัวองค์กรเองต้องชนะและต้องประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กับการทำดีให้กับสังคม ซึ่งการทำดีก็ต้องเริ่มจากไม่สร้างปัญหา ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘Negative Externality’ ที่เกิดขึ้นกับสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบธรรมาภิบาลของประเทศ และจะดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าสามารถช่วยกันสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือ Positive Externality ให้เกิดขึ้นในสังคม”
3 มิติด้านสุขภาวะองค์กร สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
จากแนวคิดของ ดร.วิรไทมองโลกในอนาคตที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญว่า มีความท้าทายที่หลากหลายมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ AI Transformation ปัญหาโลกแบ่งขั้วจาก Geopolitics สังคมผู้สูงอายุ การเมืองที่เน้นประโยชน์พวกพ้องและประชานิยมจนถ่วงรั้งการพัฒนาประเทศ ปัญหาคอร์รัปชันที่มากขึ้น และการขาดนิติธรรมในสังคม รวมไปถึงการเผชิญกับมาตรฐานการทำธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศใหม่ ๆ เช่นนั้นแล้ว ดร.วิรไทกล่าวว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนในองค์กรมีสุขภาวะที่ดีใน 3 มิติ ได้แก่
– สุขภาวะทางการเงิน
– สุขภาวะทางปัญญา
– สุขภาวะทางใจ
โดยสุขภาวะที่ดีส่งผลให้คนในองค์กรสามารถทำหน้าที่กันได้อย่างเต็มศักยภาพ มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และมีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และแรงกระแทกที่เข้ามารอบด้าน หากคนในองค์กรไม่มีสุขภาวะที่ดีย่อมยากที่ธุรกิจจะชนะ และยากมากที่จะสามารถร่วมกันคิดทำให้สังคมวัฒนาได้ เช่นนั้นแล้ว…การสร้างสุขภาวะทั้ง 3 มิติให้เกิดขึ้นในองค์กร ควรมีหลักคิดอย่างไร
สร้างสุขภาวะทางการเงิน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพนักงาน
ดร.วิรไทกล่าวถึง ‘ปัญหาหนี้ครัวเรือน’ ปัญหาใหญ่มากของพนักงานแทบทุกองค์กรและยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 เพราะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง มีนายจ้างจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง ทำให้รายได้คนไทยจำนวนหนึ่งขาดหายไป ขณะที่รายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นเร็ว ต่อจากนี้ไป เราจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) คนไทยผู้สูงอายุต้องวางแผนดูแลตัวเอง จะหวังพึ่งงบประมาณภาครัฐที่มีจำกัดไม่ได้ และคงไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานได้เหมือนเดิม โดยคนไทยจำนวนมากที่ติดอยู่ในกับดักหนี้ และไม่รู้ว่าจะหาทางออกจากกับดักนี้ได้อย่างไร
“ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่แค่บั่นทอนเฉพาะชีวิตของพนักงานเท่านั้น แต่มีผลโดยตรงต่อองค์กรที่เป็นนายจ้าง เกิดสภาวะพนักงานเป็นโรคซึมเศร้าจากปัญหาหนี้สิน วิตกกังวลจนไม่มีสมาธิทำงานจนเกิดความผิดพลาดและขาดงานบ่อย เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน มีกรณีทุจริตในองค์กรเพิ่มสูงขึ้น หลายองค์กรประสบปัญหาพนักงานลาออกเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ตามตัวได้ ปัญหาเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อผลิตภาพขององค์กรที่หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ย่อมกระทบกับความยั่งยืนอย่างแน่นอน”
การให้ความรู้ ความเข้าใจทางการเงินแก่พนักงานเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นทักษะชีวิตที่ไม่มีสอนในระบบการศึกษาไทย แต่ความรู้ทางการเงินอย่างเดียวคงไม่พอ ดร.วิรไทกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรที่มีความมั่นคงทางการเงินจะเข้ามามีบทบาทช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับพนักงานอย่างจริงจังด้วย รวมไปถึงบทบาทสำคัญของนายจ้างในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่พนักงาน อาทิ การจัดสินเชื่อสวัสดิการแบบไม่ระมัดระวัง เช่น สินเชื่อสวัสดิการร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงิน ตัดเงินเดือนหน้าซองแบบไม่มีเพดาน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ควร บางองค์กรมีเงื่อนไขให้พนักงานค้ำประกันไขว้กัน ส่งผลให้พนักงานติดเข้าไปอยู่ในกับดักหนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือต้องขอสินเชื่อทั้งที่ไม่มีความจำเป็น
สิ่งแรกที่ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาทำคือ รีบทบทวนและต่อรองเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อสวัสดิการ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยว่าสอดคล้องกับความเสี่ยงจริงหรือไม่ สิ่งที่สอง คือ พิจารณาว่าองค์กรจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับพนักงานได้อย่างไร หลายองค์กรเข้ามามีบทบาทปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่พนักงานอย่างจริงจัง มีทั้งทำเอง ใช้เงินทุนตัวเอง หรือทำร่วมกับองค์กรอื่นที่มีความรู้และมีประสบการณ์ ด้วยการให้สินเชื่อระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไปรีไฟแนนซ์หนี้สินระยะสั้นของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่หนี้นอกระบบ
“ถ้าดูฐานะขององค์กรจำนวนมาก มองว่าวงเงินสินเชื่อเพื่อช่วยปรับโครงสร้างหนี้พนักงานเป็นวงเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีต้นทุนและมีความเสี่ยงต่ำ แต่มีความหมายมากสำหรับชีวิตพนักงาน ในบางองค์กรนอกจากจัดวงเงินเพื่อช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้พนักงานแล้ว ยังใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สามารถมาช่วยปรับพฤติกรรม ติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของพนักงานไปพร้อม ๆ กับการให้ความรู้ทางการเงิน ผมเชื่อว่า…องค์กรใดก็ตามที่สามารถช่วยพนักงานหลุดจากกับดักหนี้ได้ จะช่วยลดปัญหาที่กำลังเผชิญ ช่วยเพิ่ม Productivity Creativity Adaptability Agility ให้แก่องค์กรไปพร้อมกับการเพิ่มความผูกพันหรือ Engagement กับ Loyalty ของพนักงานด้วย เรื่องเหล่านี้ช่วยให้องค์กรยั่งยืนได้”
พัฒนาสุขภาวะทางปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กร
“ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ พัฒนาผู้บริหารและพนักงาน จัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้หลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี สนับสนุนพนักงานทั้ง Reskill และ Upskill พร้อมส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดชีวิต ผมคิดว่า แค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง การใช้ปัญญาไม่ใช่เพียงแค่ใช้ความรู้ แต่เป็นการใช้ความรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เป็นการตระหนักรู้ที่เรียกว่า Realization จากข้างในที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สุขภาวะทางปัญญาช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานมองรอบ มองกว้าง และมองไกล หากคนในองค์กรขาดสุขภาวะทางปัญญา ไม่มีทางที่ Sustainability in Substance จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ไม่มีทางที่ธุรกิจจะชนะไปพร้อมกับสังคมวัฒนา”
ดร.วิรไทยกตัวอย่างแนวคิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ เรียกว่า Inner Development Goals หรือ IDG ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่า โลกไม่มีทางเดินหน้าไปสู่ Sustainable Development Goals ได้จริง ถ้าไม่พัฒนาสิ่งที่อยู่ข้างในหรือ Inner Development ในทักษะ 5 มิติ หลักฐานสำคัญของการสร้างสุขภาวะทางปัญญา ประกอบด้วย
Being พัฒนาทักษะที่ทำให้เกิดความเข้าใจตัวตนของตัวเอง เข้าใจจริยธรรม หรือ Integrity
Thinking ทักษะการคิดแบบวิเคราะห์ สามารถแยกแยะปัญหาที่ซับซ้อน มองได้รอบและมองได้ไกล
Relating การเชื่อมโยงกับคนอื่นที่จะสร้างความเห็นอกเห็นใจ ชื่นชมคนอื่น เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือ และดูแลคนอื่น
Collaborating การร่วมทำงานกับคนอื่น ประกอบด้วย การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำงานร่วมกับคนที่เห็นต่าง มีพื้นฐานที่แตกต่างกันได้
Acting สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง กล้าทำในสิ่งที่ควรทำ มีความคิดสร้างสรรค์ ความเพียร และการมองโลกในแง่ดี
“หากองค์กรใดก็ตามสามารถสร้างพลังบวกด้วยสุขภาวะทางปัญญา สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ก่อนองค์กรอื่น สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้นะครับ นอกจากจะลดผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการทำธุรกิจแล้ว ยังจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวก เรียกว่าเป็น Positive Externality เพื่อแก้ปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เป็นโอกาสที่ธุรกิจจะชนะไปพร้อม ๆ กับสังคมวัฒนา”
‘สุขภาวะทางใจ’ สิ่งเล็ก ๆ แต่สำคัญที่สุด
เวลาที่องค์กรต้องการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง หนีไม่พ้นที่ต้องเริ่มต้นจากคนในองค์กร และต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่เล็กที่สุด แต่อาจสำคัญที่สุดสำหรับแต่ละคน ก็คือเรื่องของ ‘ใจ’ ที่มักพูดกันว่า ‘ชีวิตของทุกคนมีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน’ ดร.วิรไทกล่าวปาฐกถาในมิติสุขภาวะทางใจต่อไปว่า
การพัฒนาสุขภาวะทางใจเพื่อให้เกิด Impact กับคนในองค์กร ต้องเริ่มที่ใจของผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง เพราะใจของผู้บริหารเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้บริหารที่มีผลต่อคนทั้งองค์กร มีผลต่อวิธีการทำงาน มีผลต่อวัฒนธรรมองค์กร และมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว ผู้บริหารระดับสูงมักลืมไปว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารต้องบริหาร คือ การบริหารคน ซึ่งคนจะสร้างพลังบวกให้องค์กรได้ก็ต่อเมื่อคนมีความมั่นใจ มีความสุขใจ ไม่มีความเคลือบแคลงใจ ดังนั้น จึงต้องบริหารด้วยความไว้วางใจ เปิดใจ ใส่ใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ แล้วก็มีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานที่คิดต่างและเห็นต่าง ซึ่งการจะเป็นผู้บริหารได้ดี ประกอบด้วย 3 ฐานสำคัญ คือ ฐานคิด ฐานทำ และฐานใจ
นอกจากนี้ ‘สมรรถนะทางใจ’ เป็นอีกคำสำคัญของการเป็นผู้บริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จในมิติ ‘สุขภาวะทางใจ’ ที่มาพร้อมองค์ประกอบหลัก 6 มิติที่เรียกง่าย ๆ ว่า ‘6C Mind Competency’ ที่ ดร.วิรไทให้รายละเอียดไว้ว่า
C-Concentration มีสมาธิ มีโฟกัส หรือมี Attention กับเรื่องที่กำลังทำ เรื่องที่กำลังพิจารณา เรื่องสมาธิสั้นไม่ได้เป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ แต่เป็นปัญหาของผู้บริหารรุ่นใหม่ด้วย เพราะโลกปัจจุบันอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าและข่าวใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงยากที่จะมีสมาธิ
C-Clarity มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอยู่อย่างที่เป็น มองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอคติ รักษาใจให้เป็นกลาง มองสิ่งต่าง ๆ รอบด้านแบบไม่บิดเบือน ไม่มองข้ามหรือด้อยค่าบางเรื่องโดยไม่ได้ตั้งใจ การรักษาใจให้เป็นกลางช่วยให้ใจมีความคล่องตัว พร้อมใช้งาน พร้อมตัดสินใจ สามารถรับสารและปรับใจได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เร็ว
C-Contentment สร้างความพึงพอใจหรือความสุขให้เกิดขึ้นได้ในใจ นำไปสู่ Peace of Mind ที่ทำให้รู้จักพอประมาณ วางความต้องการที่ไม่จำเป็น ไม่ไปติดอยู่กับแรงกดดันจากกระแสนิยม
C-Compassion มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตร ด้วยความคิดที่อยากช่วยเหลือคน เคารพในทัศนคติ ความเห็นต่าง และข้อจำกัดของคนอื่น รวมทั้งมีความยินดี มีมุทิตาจิต ที่จะเห็นความสำเร็จของคนอื่น Compassion ช่วยให้ผู้บริหารมองบทบาทของตนที่กว้างกว่าเพียงแค่ผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดความขัดแย้งในองค์กร เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ ซึ่งสำคัญมาก ๆ ในโลกที่ทำงานแบบ Networking หรือโลกที่เป็นแพลตฟอร์มในปัจจุบัน
C-Creativity คิดอย่างสร้างสรรค์ในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วและคิดในลักษณะที่เป็น Solution Oriented ที่ทำได้จริงเพื่อตอบโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น
C-Cushion Mind มีภูมิคุ้มกันที่สามารถรับแรงปะทะที่เข้ามาได้หลายช่องทาง ใจที่มีกันชนช่วยให้ผู้บริหารมี Endurance หรือมีความอดทนที่ดีในการทำงานและเผชิญกับความท้าทายใหม่
“นอกจากนี้ ในโลกตะวันตกยังได้พูดกันมากถึง Mindfulness Organization หรือองค์กรแห่งสติ Mindfulness Leadership หรือผู้นำแห่งสติ องค์กรชั้นนำของโลกนำเรื่อง Mindfulness practice เข้ามาใช้ในการฝึกอบรมผู้บริหาร ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร น่าเสียดายว่าในประเทศไทยมีองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Mindfulness ค่อนข้างน้อย ทั้งที่เราเป็นเมืองพุทธที่มีพื้นฐานและองค์ความรู้ในเรื่องของสติอยู่มาก ซึ่งการฝึก Mindfulness Organization หรือองค์กรแห่งสติ ไม่ใช่เพียงการฝึกให้ผู้บริหารมีสมาธิเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจถึงวิธีใช้ประโยชน์จากสติหรือสมาธิที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างพลังบวกให้กับองค์กรโดยรวม ซึ่งองค์กรหลายแห่งได้เริ่มนำ Mindfulness Organization เข้าไปใช้ โดยเฉพาะการสร้างผู้นำ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการลดความทุกข์ให้กับพนักงานในองค์กร ซึ่งมีหลากหลายแนวทาง หลากหลายวิธี”
“ผมเชื่อว่า…องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนและแท้จริง ต้องเริ่มต้นที่คนในองค์กรและให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางการเงิน สุขภาวะทางปัญญา และสุขภาวะทางใจ ซึ่งอาจมีความสำคัญต่างกันสำหรับพนักงานแต่ละระดับ ซึ่งถ้าเราไม่สามารถสร้างสุขภาวะทั้ง 3 มิตินี้ได้ ยากมากที่องค์กรจะปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่มีทางที่องค์กรจะเป็น Sustainability in Substance หรือ Doing Well by Doing Good ได้ ในทางตรงข้าม ถ้าเราสามารถร่วมกันสร้างสุขภาวะทั้ง 3 มิติให้เกิดขึ้นในองค์กรได้แล้ว ผมเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะมีชัยชนะไปพร้อม ๆ กับสังคมวัฒนา เพราะ Sustainability ต้องเริ่มต้นที่คนในองค์กร”