ลินดา เชง ผู้เปลี่ยนโฉม River City Bangkok ให้กลายเป็นดินแดนศิลปะสุดคูล
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 68 | คอลัมน์ Living Art
หากกล่าวถึง ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ในอดีตหลายคนอาจนึกถึงศูนย์การค้าแห่งนี้ในแง่ของการเป็นแหล่งซื้อขายงานศิลปะและแอนทีค ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามานานกว่า 40 ปี แต่ราว 7 ปีที่ผ่านมา ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกเริ่มปรับโฉมใหม่จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ในฐานะของการเป็นแหล่งรวมงานศิลปะร่วมสมัยแสนเก๋ ที่ดึงดูดให้ผู้สนใจงานศิลป์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามาเปิดประสบการณ์ และใช้เวลาเดินชมนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติ ชมภาพยนตร์ การแสดง หรือแม้แต่ฟังดนตรีเพลินใจ บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ว่า คือ ลินดา เชง ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก คนปัจจุบัน ที่ทุ่มเทกำลังแรงกายและแรงบันดาลใจมากมาย เพื่อทำให้ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เป็น “Anchor of arts and antiques” ตามสโลแกนที่ตั้งไว้ให้ได้
ในวันที่เธอเข้ามาที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกครั้งแรก คุณลินดาเล่าว่าโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในเริ่มมีการรีโนเวตโฉมใหม่แล้ว แต่ผู้เช่าส่วนใหญ่ยังมีเพียงร้านแอนทีค ซึ่งบางเจ้าอยู่มาตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนสิ่งที่ยังขาดไปคือ แง่มุมของงานศิลปะ “ต้องบอกว่าตอนนั้นเรามี Hardware ที่พร้อมแล้ว แต่ยังขาด Software ยิ่งสโลแกนของที่นี่คือ Art and Antique Center เมื่อเข้ามา ลินดาเห็นแต่ของแอนทีค ไหนล่ะงานศิลปะ ดังนั้นถ้าจะเริ่มต้นเปลี่ยนโฉม เราต้องทำภาพของที่นี่ให้ชัดเจนเรื่องศิลปะให้ได้” คุณลินดากล่าว ก่อนจะย้ำว่างานศิลป์ที่เธอต้องการนั้น ต้องเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ที่คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม เข้าใจ และจับต้องได้ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเริ่มจากการบินไปไต้หวัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดเพื่อหาไอเดียที่จะนำมาปรับใช้กับที่นี่
ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกครั้งใหม่ เริ่มต้นที่ดิจิทัลอาร์ต
คุณลินดาเป็นชาวไต้หวัน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 30 กว่าปี ลูก ๆ ของเธอเกิดที่นี่ทั้งสองคน ในอดีตคุณลินดาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันและอเมริกา ทำให้เธอมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีงานศิลปะ ได้ชมการแสดงและคอนเสิร์ต เมื่อคุณลินดาได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ถือเป็นภารกิจการทำงานครั้งใหม่ จึงมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้ โชว์งานศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยและนานาชาติให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้
โดยนิทรรศการศิลปะชิ้นแรกที่เธอนำเข้ามาจัดแสดง ส่งตรงจากพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งไทเป NPM (กู้กง) โดยการนำภาพวาด ศิลปวัตถุจีนโบราณมาจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบดิจิทัลที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อ Up the River During Qingming นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของการชมงานศิลปะ ก่อนจะตามมาด้วยนิทรรศการ From Monet to Kandinsky ที่นำผลงานภาพจิตรกรรมมากกว่า 1,500 ชิ้นของเหล่าศิลปินยุโรปที่มีชื่อเสียงระดับโลก นำเสนอผ่านจอโปรเจกเตอร์พร้อมกับเสียงดนตรีอันไพเราะตลอดทั้งนิทรรศการ
“งานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตลอด 3 เดือนที่จัดงาน มีคนเข้าชมมากกว่า 60,000 คน ทั้ง ๆ ที่เราเก็บค่าเข้าชมด้วย เรียกว่าเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การที่เราเริ่มต้นที่งานดิจิทัลอาร์ต เนื่องจากเราต้องการเน้นที่ความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล และโชคดีที่บอร์ดบริหารของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ก็เห็นด้วยกับการลงทุนในครั้งนี้” คุณลินดากล่าว
ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกครั้งใหม่ เริ่มต้นที่ดิจิทัลอาร์ต
คุณลินดาเป็นชาวไต้หวัน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 30 กว่าปี ลูก ๆ ของเธอเกิดที่นี่ทั้งสองคน ในอดีตคุณลินดาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันและอเมริกา ทำให้เธอมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีงานศิลปะ ได้ชมการแสดงและคอนเสิร์ต เมื่อคุณลินดาได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ถือเป็นภารกิจการทำงานครั้งใหม่ จึงมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้ โชว์งานศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยและนานาชาติให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้
โดยนิทรรศการศิลปะชิ้นแรกที่เธอนำเข้ามาจัดแสดง ส่งตรงจากพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งไทเป NPM (กู้กง) โดยการนำภาพวาด ศิลปวัตถุจีนโบราณมาจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบดิจิทัลที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อ Up the River During Qingming นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของการชมงานศิลปะ ก่อนจะตามมาด้วยนิทรรศการ From Monet to Kandinsky ที่นำผลงานภาพจิตรกรรมมากกว่า 1,500 ชิ้นของเหล่าศิลปินยุโรปที่มีชื่อเสียงระดับโลก นำเสนอผ่านจอโปรเจกเตอร์พร้อมกับเสียงดนตรีอันไพเราะตลอดทั้งนิทรรศการ
“งานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตลอด 3 เดือนที่จัดงาน มีคนเข้าชมมากกว่า 60,000 คน ทั้ง ๆ ที่เราเก็บค่าเข้าชมด้วย เรียกว่าเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การที่เราเริ่มต้นที่งานดิจิทัลอาร์ต เนื่องจากเราต้องการเน้นที่ความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล และโชคดีที่บอร์ดบริหารของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ก็เห็นด้วยกับการลงทุนในครั้งนี้” คุณลินดากล่าว
ย้อนกลับสู่งานศิลปะแบบดั้งเดิม
เส้นทางของการปรับโฉมกำลังดำเนินไปได้ดี ก็มีเหตุให้ต้องหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ความตั้งใจที่จะส่งเสริมงานศิลปะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art ที่นำชิ้นงานจริงกว่า 100 ชิ้นของแอนดี้ วอร์ฮอล มาจัดแสดงครั้งแรกในประเทศไทย และยังเป็นการเปลี่ยนการนำเสนองานแบบดิจิทัลอาร์ต ให้กลับมาสู่นิทรรศการศิลปะแบบดั้งเดิม
“คนที่สำนักงานใหญ่มักจะบอกว่าลินดาเป็นพวก Dreamer แต่ลินดาคิดว่าเมื่อฝันแล้วก็ต้องทำให้ได้จริง ๆ ด้วย และเพราะฝันนี่แหละ ที่ช่วยผลักดันให้ที่นี่เปลี่ยนไปได้ขนาดนี้”
ปัจจุบันพื้นที่ภายในริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ทั้ง 4 ชั้น มีสัดส่วนของงานศิลปะและแอนทีคพอ ๆ กัน สมกับที่ตั้งใจมีพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการศิลปะจากศิลปินไทยและต่างชาติ มีแกลเลอรีชื่อดังระดับโลกที่เลือกมาเปิดสาขา มีร้านหนังสือ ร้านจำหน่ายผลงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินรุ่นใหม่ มีการแสดงดนตรีที่เปิดให้ชมฟรีทุกเดือน และที่มากไปกว่านั้นคือการสร้างบรรยากาศ (Vibe) ที่ชวนให้คนทุกช่วงวัยเข้ามาสัมผัสกับงานศิลป์
“เราอยากให้คนที่เข้ามา ทั้งคนรุ่นใหม่เอง ครอบครัว ได้มีช่วงเวลาที่มีค่าร่วมกันที่นี่ เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นครอบครัว เด็ก ๆ เข้ามาใช้เวลาร่วมกัน เพราะนั่นคือความตั้งใจของเรา”
มุ่งมั่นสนับสนุนศิลปินไทยหน้าใหม่
การจะสร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ ก็จำเป็นต้องสรรหาคนทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เช่นกัน นี่คือหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก สามารถก้าวออกมาจากรูปแบบเดิม ๆ ได้อย่างแตกต่าง อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ของไทยอีกแรงหนึ่ง
“ทีมงานมีส่วนสำคัญในการเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่ที่น่าสนใจ และการที่เราดึงคนทำงานรุ่นใหม่เข้ามาก็เพื่อที่จะหาไอเดียสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกัน ลินดาก็มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าศิลปินของไทยเรามีศักยภาพ และมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก เราดีใจทุกครั้งที่การสนับสนุนของเราเป็นโอกาสที่จะทำให้ Art Ecosystem ของไทยขยายออกไปได้ และลินดาเองก็ดีใจที่เรามีโอกาสได้ทำและมีส่วนช่วยตรงนี้”
คุณลินดาตั้งใจที่จะเปิดโอกาสให้งานศิลปะทุกแขนง รวมไปถึงภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง ละครเวที หรือแม้แต่บทกวี เธอก็คิดว่าน่าจะมีที่ทางให้ศิลปินได้แสดงออก เนื่องจากสำหรับแวดวงศิลปะ ทั้งงานศิลปะ ดนตรี หรือแขนงอื่นใดก็ตาม ศิลปะควรเป็นสิ่งที่จะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา และต้องเข้าถึงได้ง่าย
40 ปี ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ปี 2567 จะเข้าสู่ปีที่ 40 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก นิทรรศการและการแสดงต่าง ๆ ที่เตรียมไว้เฉลิมฉลองจึงต้องพิเศษยิ่งขึ้น ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกิจกรรมจากเพจ River City Bangkok แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังจัดขึ้น และจัดต่อเนื่องมาถึงปีที่ 4 แล้ว คืองานประกวดวาดภาพพอร์ตเทรตระดับชาติ Italthai Portrait Prize การประกวดภาพวาดพอร์ตเทรตแบบ Live Painting คือต้องวาดจากบุคคลจริงไม่ใช่ภาพถ่าย การจัดประกวดนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยผลักดันให้ศิลปินทั้งมือสมัครเล่น มืออาชีพ ทุกเพศทุกวัย ได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่วงการศิลปะระดับประเทศและแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ portraitprizethailand.com
“เราอยากให้ศิลปินของเรามีโอกาสบนเวทีโลกได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้คนไทยได้รื่นรมย์กับงานศิลปะ เพราะศิลปะคือส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์” คุณลินดากล่าว