“รัชนก อินทนนท์” ต้นแบบสาวน้อยมหัศจรรย์ ผู้จุดประกายความสำเร็จวงการลูกขนไก่เมืองไทย
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 45 | คอลัมน์ New Generation
“รัชนก อินทนนท์” หรือที่รู้จักกันดีทั่วประเทศในนาม “น้องเมย์” เธอคือนักกีฬาแบดมินตันหญิงทีมชาติ ที่เป็นตัวแทนความเก่งในด้านกีฬาของผู้หญิงไทยอย่างแท้จริง จากที่เคยไต่อันดับขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลก สร้างสถิติแชมป์โลกอายุน้อยที่สุด และประกาศศักดาเป็นแชมป์ในหลายๆ รายการแข่งขัน ทุกวันนี้เธอยังคงโลดแล่นในวงการลูกขนไก่และมุ่งมั่นที่จะคว้าความสำเร็จในทุกทัวร์นาเม้นต์ พร้อมเป้าหมายที่จะถ่ายทอดความสำเร็จสู่รุ่นน้อง ด้วยอุดมการณ์ที่ยึดมั่นมาโดยตลอดว่า “ระเบียบวินัยและความทุ่มเท” คือเครื่องมือสร้างขุมพลังคว้าชัยชนะมาไว้ในอ้อมกอด
หลังจบการแข่งขันโยเน็กซ์ ออล อิงแลนด์ โอเพ่น (YONEX All England Open 2018) ที่ผ่านมา เรามีโอกาสชิงตัว “เมย์-รัชนก อินทนนท์” จากตารางเวลาที่แน่นเอียดมานั่งคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งสะท้อนตัวตนของเธอ หากให้เขียนบรรยายความสำเร็จของผู้หญิงคนนี้ คงต้องใช้พื้นที่หลายหน้ากระดาษจึงจะครบและครอบคลุม เพราะในบรรดารายการแข่งขันทั้งไทยและระดับโลก สาวน้อยมหัศจรรย์วัยเพียง 23 ปีคนนี้ ได้เดินสายเก็บแต้มคว้าตำแหน่งแชมป์มาแล้วเกือบทุกรายการ
และเมื่อถามว่ายังมีรายการใดที่มุ่งหวังเป็นพิเศษ เมย์เผยว่า เธอปรารถนาจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกและได้ทริปเปิ้ลแชมป์มาครอบครองเป็นเกียรติประวัติประดับตัว ส่วนเป้าหมายสูงสุดในอาชีพนักแบดมินตันของเธอคืออะไร เมย์กลับตอบได้อย่างน่าประหลาดใจว่า “ทุกการแข่งขันที่ลงชิงชัยคือเป้าหมายที่ต้องพิชิตให้ได้” ทำให้เธอโฟกัสกับการซ้อมอย่างหนักหน่วงและทุ่มเทกับการแข่งขันทุกแมตช์เสมอ
กว่าจะเป็นแชมป์โลกหญิงเดี่ยวอายุน้อยที่สุด
จากเด็กน้อยวิ่งเล่นซุกซนในโรงงานทำขนมหวาน “บ้านทองหยอด” กลายเป็นนักกีฬาระดับชาติได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แม้ไม่อาจตอบได้ว่าเป็นเพราะชะตาฟ้าลิขิตหรือไม่ แต่คำว่า “พรสวรรค์” น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เธอมาถึงจุดนี้ เมย์เล่าว่าเริ่มจับไม้แบดมินตันเพราะดูแล้วน่าสนุก น่าลอง แต่ก็เพื่อออกกำลังกายเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการเล่นอย่างจริงจัง เธอก็ตกหลุมรักกีฬานี้โดยไม่รู้ตัวและเพียง 1-2 ปีหลังจากนั้น ด้วยฝีมือที่หลายคนยกนิ้ว จึงทำให้เมย์ชนะการแข่งขันตั้งแต่รายการแรกที่ลงแข่งและคว้าแชมป์ระดับเยาวชนต่อมาอีกหลายรายการ
จากจุดนั้นผลักดันให้เธอข้ามขั้นไปแข่งขันรายการสำหรับผู้ใหญ่ เข้าชิงแชมป์ประเทศไทยจนได้รางวัลชนะเลิศตอนอายุ 14 ปีเท่านั้น เมื่อลงสนามในฐานะทีมชาติเป็นครั้งแรก ก็สามารถคว้าเหรียญเงินหญิงเดี่ยวแบดมินตัน จากเอเชียนเกมส์มาครองได้ และเดินขึ้นบันไดไต่ความสำเร็จอย่างรวดเร็วทั้งเดินสายแข่งขันเก็บคะแนนระดับซู เปอร์ ซีรีส์ และกรังด์ปรีซ์ เฉลี่ยลงสนามแข่งขันปีละกว่า 13-15 รายการ สูงสุดอยู่ที่ 20 รายการต่อปี ในนามสังกัดสโมสรโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และแข่งขันในนามสโมสรชิงเต่าในลีกระดับโลกที่ประเทศจีน ที่สำคัญในนามนักกีฬาทีมชาติไทยอีกด้วย
“แบดมินตันทำให้เมย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากคนไม่มีอะไรเลยจนสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว ซึ่งผลงานและชื่อเสียงไม่ได้เกิดกับตัวเมย์เท่านั้น แต่ยังทำให้หลายคนสนใจกีฬาแบดมินตันมากขึ้น มีสนามแบดมินตันเกิดขึ้นมากมาย”
เมย์เปิดเผยว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากความขยันฝึกฝน มีระเบียบวินัย มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับทุกการแข่งขันที่วิ่งวนอยู่ภายในตัวเธอแล้ว ยังได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก คุณแม่ปุก-กมลา ทองกร เจ้าของโรงงานบ้านทองหยอด ที่คอยอบรมสั่งสอนตักเตือนและปลูกฝังแนวคิดพัฒนาตัวเองให้กับเธอได้เติบโตขึ้น อย่างสง่างามพร้อมสนับสนุนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกีฬาแบดมินตัน รวมถึงด้านการศึกษา โดยสนับสนุนส่งเสริมร่วมกันกับพ่อแม่ (วินัสชัย อินทนนท์ และคำผัน สุวรรณศาลา) ของเธอเองด้วย
“เมย์ไม่ได้มีบุคคลต้นแบบเป็นใครคนใดคนหนึ่งแต่จะดูจากคนรอบตัว ซึ่งแม่ปุกสนับสนุนเมย์มาตั้งแต่แรกและตลอดมา ทั้งเรื่องอุปกรณ์แบดมินตันรวมถึงดูแลการออมเงิน และระเบียบวินัยทางการเงินทำให้เรามีเงินมากขึ้น ทำให้เมย์ได้ซึมซับเรื่องการเป็นผู้ให้จากท่านอีกด้วย เมื่อเราได้รับประโยชน์จากตรงนี้มีต้นทุนที่ดีขึ้น ก็ถึงเวลาที่เมย์จะเป็นผู้ให้บ้างด้วยการแบ่งปันแก่น้องๆยกตัวอย่างกรณีสปอนเซอร์ ที่ไม่ม่เพียงแต่สนับสนุนเมย์เท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้น้องๆ มีโอกาสไปแข่งขันตามรายการต่างๆ และแม่ปุกยังสอนเรื่องการวางตัวว่าทำตัวให้เหมือนเดิมนั้นดีที่สุด ใช้ชีวิตให้เรียบง่าย ไม่เย่อหยิ่งหรือหลงระเริงไปกับรางวัลและชื่อเสียงความเป็นแชมป์ที่ได้มา”
“เมย์ไม่ได้มีบุคคลต้นแบบเป็นใครคนใดคนหนึ่งแต่จะดูจากคนรอบตัว
เดินทางพิชิตฝันบนความคาดหวังของคนทั้งประเทศ
มือตบลูกขนไก่วัย 23 ปี เล่าถึงการแบ่งเวลาในหนึ่งวันของเธอว่านาฬิกาชีวิตเริ่มต้นตอน 7 โมงเพื่อซ้อมแบดมินตันจนถึง 9 โมงเช้า พักอาบน้ำ กินอาหารเช้าก่อนไปใช้ชีวิตนักศึกษา แล้วกลับมาซ้อมต่อในเวลาบ่าย 3 ถึง 5 โมงเย็น เพื่อฝึกเทคนิค แม้จะไม่เหนื่อยกายแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เธอต้องใช้สมองและความคิดในการเล่น จากนั้นก็จะต้องเรียนพิเศษ แล้วกลับมาซ้อมอีกครั้งในช่วงค่ำจนถึง 3 ทุ่ม เป็นเช่นนี้ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ที่เธอขอโค้ชเป็นวันหยุด เพื่อจะได้ใช้ชีวิตแบบเด็กสาวทั่วไปบ้าง แต่ถ้าอยู่ในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่การแข่งขัน การฝึกซ้อมนั้นต้องเข้มข้นมากขึ้น
“เมย์รู้สึกแค่ว่าเหนื่อย แต่เรามองเห็นอนาคตลางๆ ว่าสิ่งที่เราทำวันนี้จะส่งผลให้ชีวิตเราดีขึ้น เหนื่อยเป็นเรื่องธรรมดา พักแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย แต่ว่าการที่เราเก็บกลับมาคิดว่าเหนื่อย หรือตั้งคำถามว่าทำไม? มันจะยิ่งเหนื่อย เพราะอะไรที่ไม่ชอบ หรือไม่ใช่ เราก็ต้องทำอยู่ดี เราควรตั้งคำถามที่กระตุ้นให้คิดบวก มีแรงขึ้นมามากกว่า แล้วตั้งใจทำให้ดีที่สุด พอถึงเวลาแข่ง เมย์ยอมรับว่าทุกครั้งที่ลงสนาม มีความกดดัน เพราะเราอยู่ในความสนใจของประชาชน ทุกคนคาดหวังกับเรา จึงต้องจัดการกับความกดดันและความตื่นเต้นของตัวเองให้ได้ เพราะบางทีเรายังไม่ได้แข่งอย่างเต็มที่ก็แพ้เสียแล้ว มันน่าเสียดายที่จัดการกับอารมณ์และควบคุมตัวเองไม่ได้ ถ้าเทียบกับตอนที่แข่งขันชิงแชมป์โลก ซึ่งเป็นแมตช์ที่เมย์ภูมิใจและประทับใจที่สุด ในตอนนั้นเราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้แชมป์กลับมาให้ได้ เราแค่ตั้งใจเล่นให้ดีที่สุดแล้วผลที่ออกมาก็สร้างเซอไพรส์ แต่ที่จริงนักกีฬาต้องอัดความกดดันใส่เข้าไปบ้าง ไม่อย่างนั้นเราจะเล่นเรื่อยๆ ชิลเกินไป ก็อาจทำให้แพ้ได้เหมือนกัน สิ่งที่ดีที่สุดคือสร้างสมดุลให้ตัวเอง รักษาระดับการเล่นให้ดีคงที่ตลอดการแข่งขัน”
“เมย์ทำได้แค่เป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องๆ เห็น ในเรื่องอัธยาศัยที่ดี มีความกตัญญู มีความขยัน ตั้งใจ มีระเบียบวินัยในการซ้อมและการแข่งขัน เราต้องพยายามสร้างสมดุลให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป”
ด้วยความที่ใช้ชีวิตกับกีฬาลูกขนไก่มาตั้งแต่เด็ก ประสบความสำเร็จเป็นนักกีฬาอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย เมย์จึงต้องใคร่ครวญถึงอนาคตของตัวเองว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แน่นอนว่าเธอยังคงอยู่ในโลกของแบดมินตันเช่นเดิม โดยอาจผันตัวเป็นโค้ช หรือมีส่วนร่วมกับแบดมินตันในแง่มุมต่างๆ เพราะถ้าต้องเลิกไป ก็ไม่รู้จะทำอะไร เลี้ยงชีพด้วยงานใด ดังนั้นถ้ายังเล่นแบดมินตันอยู่ ก็จะต้องทำให้เต็มที่ในทุกๆ วัน พยายามแอคทีฟสร้างผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“จริงๆ แล้ว น้องๆ ไม่ต้องเดินตามรอยเมย์ทุกฝีก้าว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เดินตามโมเดล หรือต้นแบบที่ตัวเองชอบแล้วจะสำเร็จทุกคน เราต้องฝึกและพัฒนาตัวเองตามศักยภาพ และเพิ่มพูนความสามารถของตัวเอง ขจัดจุดด้อยออกไป มีเป้าหมายเฉพาะของตัวเอง จะเป็นการทำเพื่อพ่อแม่หรือยิ่งใหญ่กว่านั้นก็ได้ เมย์ทำได้แค่เป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องๆ เห็น ในเรื่องอัธยาศัยที่ดี มีความกตัญญู มีความขยัน ตั้งใจ มีระเบียบวินัยในการซ้อมและการแข่งขัน เราต้องพยายามสร้างสมดุลให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป”
แม้บทสนทนาอันแสนประทับใจจะจบลงแล้ว แต่สิ่งที่ เมย์-รัชนก อินทนนท์ ถ่ายทอดออกมาได้สะท้อนว่าเธอไม่ได้มีดีแค่พรสวรรค์ในกีฬาแบดมินตันที่หาตัวจั บยากเท่านั้น แต่ยังมีมุมคิดที่น่ายกย่องและถือเป็นแบบอย่างให้น้องๆ เยาวชนนำไปปรับใช้เพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง พร้อมส่งต่อความภาคภูมิใจให้กับประเทศชาติได้อีกด้วย
สร้างวินัยทางการเงินเหมือนการใช้ชีวิต
นอกจากความมุ่งมั่นในการแข่งขันจะเป็นคีย์เวิร์ดความสำเร็จของ “เมย์ รัชนก อินทนนท์” แล้ว คำว่า “วินัย” ยังเป็นหนทางนำเธอไปสู่เป้าหมายด้วยเช่นกัน เมย์เล่าถึงการบริหารเงินของตนนั้นก็คล้ายคลึงกับการใช้ชีวิต ซึ่งตรงกับสำนวน “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ไม่รีบร้อนแต่มีวินัยในการใช้จ่ายและเก็บออม โดยเน้นไปที่การสะสมเงินรายได้จากการแข่งขันและการสนับสนุนของสปอนเซอร์ แล้วให้ “เงินทำเงิน” ด้วยตัวมันเอง และเชื่อมั่นในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินให้มาช่วยบริหารจัดการด้านการ เงินซึ่งเธอไม่ถนดหรือเชี่ยวชาญนัก