วิรสุตา เชื้อรัตนพงษ์ ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ กลุ่มบริษัทจิ้นเซ่งฮวดอะไหล่ยนต์ สู่การเป็นบริษัทเทรดดิ้งครบวงจร
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 70 | คอลัมน์ New Generation
การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV (Electric Vehicle) มีผลทำให้ธุรกิจรถยนต์สันดาปต้องปรับตัวเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ในฐานะที่เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของกลุ่มบริษัทจิ้นเซ่งฮวดอะไหล่ยนต์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายและผู้จัดจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทั้งของแท้และของเทียบเท่าจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศที่ก่อตั้งมาเกือบ 60 ปี คุณฝน-วิรสุตา เชื้อรัตนพงษ์ ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร จึงได้เน้นการสร้างเสริมจุดแข็งบริษัทด้วยการมุ่งเน้นการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพภายในองค์กร การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และการเตรียมพร้อมให้จิ้นเซ่งฮวด กลายเป็นบริษัทเทรดดิ้งเต็มรูปแบบในอนาคต พร้อมให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้าและคู่ค้า
จาก Investment Banker สู่บทบาทผู้บริหารรุ่น 3 ของธุรกิจครอบครัว
“ตัวฝนมีความผูกพันกับที่บ้านมากค่ะ ตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาคุณพ่อเดินทางไปดูงานหรือสัมมนาก็จะพาไปด้วยเสมอ เหมือนกับที่คุณปู่พาคุณพ่อไปตลอด พอเราได้ไปก็สนุก เพราะส่วนตัวชอบเดินทางอยู่แล้ว โดยนอกจากได้ไปเที่ยวก็ยังเป็นการปลูกฝังให้ตัวเองซึมซับกับธุรกิจของที่บ้านอีกด้วย ดังนั้น ความรู้สึกห่างเหินจากธุรกิจครอบครัวจึงไม่เคยเกิดขึ้นเลย”
แม้สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกลมเกลียวแน่นแฟ้น แต่ก่อนที่คุณฝนจะมารับหน้าที่ผู้บริหารของกลุ่มบริษัทจิ้นเซ่งฮวดอะไหล่ยนต์ เธอได้มีโอกาสหาประสบการณ์ในสายงานการเงินการลงทุน ในตำแหน่ง Investment Banker คุณฝนเล่าว่า
“หลังจากเรียนจบใหม่ ๆ ก็อยากมีประสบการณ์การทํางานสาย Corporate จึงได้ไปทำงานด้าน Investment Banker สักพักใหญ่ ก่อนจะเรียนต่อปริญญาโท จนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อสาย Corporate หรือจะกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งถ้ากลับไปทำงานที่บ้านต้องกลับเลย แต่ถ้าไม่ก็คือไปยาวเลย”
โดยในจุดที่ต้องตัดสินใจอย่างเฉียบขาดหลังจากไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ คุณฝนก็ตัดสินใจสานต่อธุรกิจทางบ้าน “ที่ตัดสินใจทำ เพราะความผูกพันที่ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก รวมทั้งเห็นความท้าทาย ความซับซ้อนหลากหลายมิติของเนื้องานที่มองจากมุมของเจ้าของธุรกิจ เพราะต้องทำงานกับคนที่บ้าน มันก็มีความน่าสนใจมาก และถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจมันก็น่าภูมิใจค่ะ”
การสื่อสาร-ศักยภาพของมนุษย์ คือหัวใจสำคัญ
“ในอีกมุมหนึ่งของการสานต่อธุรกิจครอบครัวสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ มีความท้าทายในเรื่องการสื่อสาร เพราะคนรุ่นก่อนอาจจะสื่อสารน้อย ส่วนคนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่อมองเห็นความต่างอย่างชัดเจนระหว่างคนต่างรุ่น จึงเป็นความตั้งใจแต่แรกของฝนที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องดังกล่าว ซึ่งความตั้งใจคือทุกฝ่ายจะต้องพูดคุยและสื่อสารกันมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนในทุกฝ่ายปรับทิศทางการดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน”
จากนั้นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการทำงานที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือลักษณะโครงสร้างขององค์กรที่แตกต่าง ด้วยการวางแผนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเธอเอง “ตอนเราทำงานองค์กรใหญ่ เพื่อนร่วมงานก็จะมีตำแหน่งใกล้เคียงกัน แต่พอทำธุรกิจที่บ้าน เพื่อนร่วมงานจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และเจ้านายของเราก็คือคุณพ่อ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกันเลย ซึ่งเมื่อพนักงานคิดว่าเจ้านายคือเจ้าของกิจการ บางครั้งเขาก็อาจจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นบางอย่าง เราจึงพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กรด้วย”
‘การเลือกสวมหมวกให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์’ คือสิ่งที่คุณฝนนำมาใช้เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มผู้บริหารและกลุ่มพนักงาน “ฝนพยายามที่จะสวมหมวกของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และความรู้สึกของทีม ซึ่งเราเข้าใจทุกคน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็เคยมีหัวหน้า ฝนจึงสื่อสารเรื่องนี้กับคุณพ่อให้ท่านเห็นอีกมุมหนึ่งด้วย เพราะท่านทำงานในฐานะผู้บริหารและเจ้าของกิจการมาตลอด”
ส่วนเรื่องของการเรียนรู้งานในธุรกิจนี้ คุณฝนเลือกที่จะเข้าใจการทำงานแต่ละแผนกด้วยการลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตัวเอง “เราไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาก่อน จึงเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกแผนก เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้จากทุกคน รับรู้ เข้าใจ และร่วมกันแก้ปัญหาในแต่ละจุด สร้างความรู้สึกของการเป็นทีมเดียวกัน โดยไม่ได้ออกคำสั่งอย่างเดียว”
ในที่สุด สิ่งที่เธอตั้งใจทำมาตลอดก็ส่งผลให้เกิดการเปิดใจระหว่างกัน แต่ละแผนกทำงานร่วมกันได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น “สิ่งที่ฝนคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงคือพนักงานเปิดใจระหว่างการประชุมมากขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้มีโอกาสพูด และเรามีจุดประสงค์ชัดเจนในแต่ละวาระการประชุม เมื่อจบการประชุม ทุกคนรู้ว่าใครต้องทำอะไร มีอะไรที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย”
มาถึงยุคที่มีเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วยสำคัญในการทำงาน คุณฝนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เพื่อเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนทางธุรกิจ “องค์กรเราไม่ได้เน้นเทคโนโลยีอย่างเดียวจนลืมซอฟต์สกิล (Soft Skill) ของมนุษย์ เพราะเราเชื่อว่าสิ่งนี้มีคุณค่ามากไม่ต่างจากเทคโนโลยีฐานข้อมูลหรือ AI เลย เราจึงต้องหาจุดสมดุลในการบริหารงานเพื่อนำพาธุรกิจไปข้างหน้าโดยไม่ได้เอนไปทางใดทางหนึ่งค่ะ”
เดินหน้าสู่ One Stop Service ขจัดอุปสรรคการเข้ามาของรถ EV
ในยุคที่ผู้บริโภคมีรถ EV เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอุตสาหกรรมรถยนต์ แน่นอนว่าสิ่งนี้คือ Disruption ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจแวดล้อมเครื่องยนต์สันดาป คุณฝนแชร์มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในแง่ของอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์นั้น EV คือที่สุดของความเปลี่ยนแปลง
“โลกยุคใหม่ในปัจจุบัน ฝนมองย้อนไปเหมือนยุคหนึ่งที่เราเคยใช้ถ่านแล้วเปลี่ยนมาใช้แก๊ส ณ ตอนนี้ ฝนคิดว่าเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าอาจจะไม่สามารถทดแทนรถยนต์สันดาปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้แบบทันทีทันใด แต่แน่นอนว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายและยิ่งใหญ่ที่สุดกับธุรกิจของเรา เพราะเมื่อเกิดการใช้เครื่องยนต์สันดาปน้อยลง ในรถแต่ละคันอะไหล่จะหายไปเกินครึ่ง จากที่เคยขายอะไหล่เป็นพันชิ้น อาจจะเหลือแค่ 500 ชิ้น ดังนั้น ต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมสำหรับการเป็นบริษัทเทรดดิ้ง (Trading Company) ครบวงจรที่สามารถเป็นตัวกลางที่จะนำเสนอขายสินค้าและบริการอย่างครบวงจรให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าของเรา”
ขณะเดียวกัน ธุรกิจการค้าอะไหล่รถยนต์ก็ต้องมองภาพของลูกค้าในวงกว้างขึ้น จากที่เคยเจาะกลุ่มของร้านอะไหล่รถยนต์เป็นหลัก ก็ต้องต่อยอดในการวางแผนเรื่องขยายกลุ่มเป้าหมายพร้อมกับการรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ ซึ่งนอกจากสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าในกลุ่มธุรกิจเดิมแล้ว ‘จิ้นเซ่งฮวด’ ยังขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย
“ถ้าจะให้เห็นภาพคือเราทําตัวเองให้เป็น One Stop Service นั่นหมายความว่า ต้องมีความหลากหลายของสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการจบได้ในที่เดียว เราจะเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยที่เป็นคนจัดการขั้นตอนต่าง ๆ ให้ทั้งสองฝ่าย นี่คือแผนรองรับของบริษัทสำหรับการขยายตัวของตลาด EV ซึ่งเราใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการทำงาน ร่วมกับความสำคัญของ Soft Skill ของพนักงานในองค์กรเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการบริการที่จริงใจ”
สานต่อ ส่งเสริม พัฒนาตามรากฐานจากรุ่นสู่รุ่น
เทคโนโลยีที่ได้รับการวางรากฐานมาอย่างดีจากคุณกิตติชัย เชื้อรัตนพงษ์ ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ที่รับช่วงต่อมาจากคุณไพโรจน์ เชื้อรัตนพงษ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้บริหารรุ่นแรก ทำให้คุณฝน ทายาทรุ่นที่ 3 สามารถนำฐานข้อมูลของบริษัทมาต่อยอดเพื่อพัฒนาและสานต่อพันธกิจของ ‘จิ้นเซ่งฮวด’ ให้เดินหน้าขับเคลื่อนได้เท่าทันโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“คุณพ่อซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 ได้วางรากฐานการทำงานมาอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะในแง่ของเทคโนโลยี เรามี ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จัดการระบบอัตโนมัติแบบบูรณาการ ทําให้มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว สามารถนำข้อมูลตรงนั้นมาใช้มากขึ้น เกิดการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้การจัดการด้านต่าง ๆ มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Idle Time Management (การจัดการเวลารอคอย) หรือ Inventory Management (การบริหารสินค้าคงคลัง)”
สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความได้เปรียบทางธุรกิจ โดยสิ่งที่ทำให้คุณฝนรู้สึกภาคภูมิใจ คือ การบริหารคลังสินค้าอย่างมีคุณภาพและการจัดการสต็อกอย่างเป็นระบบ ที่สามารถตรวจจับได้อย่างรวดเร็วว่าสินค้าประเภทไหนขายดีหรือไม่ดี
“การบริหารคลังสินค้าอย่างเป็นระบบก็เพื่อปรับปรุงการทำสต็อกสินค้าให้เราสามารถขายได้มากขึ้น และต่อยอดไปถึงการบริหารจัดส่งของถึงมือลูกค้าอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการยกระดับการบริการ เพราะก็ต้องยอมรับว่าสินค้าที่เรามีนั้น ลูกค้าก็สามารถหาซื้อที่อื่นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องของการบริการและการดำเนินงาน ทีมงานเป็นคนที่รักษาสัมพันธ์กับลูกค้า และใช้เทคโนโลยีทุกอย่างที่มีเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิผลสูงสุดภายในขีดจำกัดของกรอบเวลา”
‘ยอมรับและเรียนรู้’ แง่คิดที่ได้จากการต่อยอดธุรกิจครอบครัว
“ฝนทำธุรกิจที่บ้านแบบเต็มตัวประมาณ 5 ปีแล้วค่ะ เชื่อว่าการทํางานในธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะแบบที่บริหารงานโดยคนในครอบครัวจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีการผ่อนหนักผ่อนเบาในการบริหาร รับฟังความเห็น รับรู้ปัญหา ต้องสวมหมวกให้ถูกใบในการทํางาน มองทั้งมุมผู้บริหารและมุมของพนักงาน เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเห็นอกเห็นใจกัน และส่งเสริมการสื่อสารกันระหว่างทีมทำงาน”
นอกจากเน้นเรื่องการดูแลพนักงานในบริษัทแล้ว คุณฝนยังเห็นว่าผู้บริหารต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
“อีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา พร้อมกับ Disruption ที่เกิดขึ้นมากมาย ต้องยอมรับให้ได้ว่ามีบางอย่างที่เราอาจตามไม่ทัน ซึ่งเข้าใจว่าในมุมของเจ้าของกิจการ บางครั้งก็ยากที่จะทำใจยอมรับว่า ‘ไม่รู้’ แต่ถ้าเราเปิดใจยอมรับ สิ่งที่จะได้ในทันทีคือ ‘การเรียนรู้’ ดังนั้น นอกจากจะเป็นน้ำไม่เต็มแก้วแล้ว ยังต้องขยายแก้วอยู่ตลอดด้วยค่ะ”