Healthiness & Happiness สร้างได้ ถ้ารู้ป้องกัน รู้รักษา และรู้ใช้ชีวิตอย่างมีชีวา
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 51 | คอลัมน์ People
เสวนาพิเศษประจำปีที่ TISCO จัดขึ้นเพื่อขอบคุณลูกค้า หลายปีที่ผ่านมามักนำเสนอประเด็นทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) ของลูกค้า ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของ TISCO แต่เพราะ TISCO ตระหนักดีว่า ยังมีสิ่งที่สำคัญกับลูกค้าไม่แพ้ Wealth นั่นคือ Health จึงเป็นที่มาของการก้าวสู่บริการที่ปรึกษาด้านประกันสุขภาพ TISCO Health Protection Advisory ซึ่งมาเติมเต็มพันธกิจ Holistic Financial Advisor ของ TISCO ให้สมบูรณ์
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่แม้จะเผชิญกับโรคร้าย หากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพด้านการรักษา และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีชีวาได้ ก็ถือเป็นพรอันประเสริฐไม่แพ้กัน นี่จึงเป็นที่มาของงาน Exclusive Talk “Medical Care Innovations: Fighting Cancer, Heart Disease, And Alzheimer’s” โดยได้เชื้อเชิญระดับอาจารย์แพทย์ “มือหนึ่ง” จาก 3 สถาบันการแพทย์ที่เป็นเสาหลักของวงการแพทย์ไทย มาให้ความรู้ พร้อมคำแนะนำในการป้องกันและแนวทางสมัยใหม่ในการรักษา 3 โรคร้ายแรง
มะเร็งที่รักษาไม่หายคือมะเร็งที่ไม่ได้รักษา
“ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้ก็ตาม มะเร็งถือเป็น Major Killer ของโลกในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย สิ่งที่น่าตกใจคือ นอกจากจะเป็นอับดับหนึ่งของโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาระในการรักษาโรคมะเร็งจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นปัญหาระดับประเทศ” รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เกริ่นนำได้อย่างน่าสนใจ
อาจารย์วิโรจน์สรุปให้เข้าใจง่ายว่า มะเร็งเกิดจากเซลล์ในร่างกาย ซึ่งเซลล์ปกติ เมื่อมีอายุมากขึ้นก็มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งได้ถ้าเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในสภาพที่เหมาะสมและสะสมมาเรื่อยๆ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าโรคมะเร็งถือเป็นโรคของคนสูงอายุ ส่วนคนที่มีอายุยังน้อย ก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งได้ แต่จะไม่รุนแรงและรักษาง่ายกว่า ในขณะที่มะเร็งที่เกิดในคนอายุมากมักจะมีความซับซ้อนและรักษายากกว่า
สาเหตุที่สำคัญของโรค เกิดได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมๆ กัน และมีการสะสมมาเป็นเวลานาน ถ้าจะแบ่งอย่างกว้างๆ ก็คือ สาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ และสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่าปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ อายุ เพศ พันธุกรรม และเชื้อชาติ ส่วนที่เหลือคือปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ อาทิ พฤติกรรมการทาน การนอน สุรา บุหรี่ สารเคมีบางอย่างและเชื้อไวรัส เป็นต้น
“การป้องกันอาจจะทำได้ยาก แต่สิ่งที่อยากเน้นมากกว่าคือ อย่ากลัวมะเร็ง โรคมะเร็งที่ไม่หายคือโรคมะเร็งที่ไม่ได้รักษา ถ้าตรวจเจอโรคเร็ว ก็สามารถรักษาได้เร็วขึ้น โอกาสหายก็มากขึ้น และที่สำคัญ ผมอยากบอกว่าวิธีรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก”
ปัจจุบันวิธีการรักษามะเร็งที่สำคัญมี 3 อย่าง ได้แก่ 1.ผ่าตัด 2.ฉายรังสี 3.ใช้ยาสำหรับวิธีผ่าตัด ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีผ่าตัดทุกวันนี้ทำให้รูผ่าตัดเล็กลง ส่งผลให้การรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ขณะที่การฉายรังสีก็มีเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาช่วยคำนวณและวางแผนในการฉายรังสีได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงต่ำ เช่น Proton Therapy (เครื่องฉายรังสีโปรตอน) ซึ่งเหมาะกับการฉายรังสีในจุดที่เล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ลึก ซับซ้อน และอันตราย ต้องใช้ความแม่นยำสูง โดยข่าวดีคือ โรงพยาบาลจุฬาฯ กำลังจะเปิดศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ภายในปีนี้
สำหรับการรักษาแบบใช้ยา ปัจจุบันก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก นอกจากกลุ่มยาเคมีบำบัดที่หลายคนพอรู้จักแล้ว ก็ยังมีกลุ่มยาที่เรียกว่า “ยามุ่งเป้า (Molecular Targeted Therapy)” เหมาะสำหรับมะเร็งที่มีพันธุกรรมพิเศษเฉพาะ โดยใช้ยาที่มียีนส์เฉพาะนั้นไปต่อต้านการทำงานของมะเร็งสายพันธุ์นั้น แต่สิ่งที่ใหม่ที่สุดสำหรับการรักษาด้วยยาคือกลุ่มยาภูมิต้านมะเร็ง (Biologics) ซึ่งถือเป็นอนาคตของการรักษามะเร็ง เพราะมีประสิทธิภาพสูง และที่สำคัญคือผลข้างเคียงต่ำเพราะเป็นการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายเองไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง หรือที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด”
“วันนี้ที่เราร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ในญี่ปุ่นในการเอาเซลล์ที่สามารถต่อสู้กับมะเร็งได้ในภาวะที่เหมาะสมออกมาตัดต่อทางพันธุกรรมโดยใช้กระแสไฟจี้ เพื่อให้ได้เซลล์ที่มีพันธุกรรมพิเศษไปต่อสู้กับมะเร็งชนิดที่เราต้องการ (CAR-T-Cells) แล้วใส่กลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ไปต่อสู่เซลล์มะเร็ง ซึ่งสเต็ปแรกเราใช้รักษามะเร็งของต่อมต่างๆ และมะเร็งของเม็ดเลือดขาว ส่วนมะเร็งที่ซับซ้อนกว่านั้นต้องมีการพัฒนาไปอีกขั้น”
ปัจจุบันมีบริษัทยาผลิต CAR-T-Cells ออกมาขายแล้ว โดยราคาตกอยู่ที่ประมาณ 17-18 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งในช่วงชีวิตของการรักษาอาจต้องใช้มากกว่า 1 ครั้ง “เราหวังว่า ถ้าประเทศไทยผลิตเองได้จะทำให้ราคา CAR-T-Cells ลดเหลือประมาณ 1 ล้านนิดๆ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้มากขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องการมาก ณ ตอนนี้ คือการสนับสนุนงานวิจัย เพราะทุกงานวิจัยต้องมีค่าใช้จ่าย คนส่วนใหญ่ชอบบริจาคสร้างตึกซื้อเครื่องมือแพทย์ แต่ไม่ค่อยมีคนบริจาคให้ทำงานวิจัย เราอาจให้คำมั่นไม่ได้ว่างานวิจัยจะสำเร็จหรือไม่ แต่เราให้ความมั่นใจได้ว่าเราจะพยายามทำให้สำเร็จ นี่จึงเป็นที่มาที่จุฬาฯ ต้องระดมทุนเรื่อยๆ”
สุดท้ายนี้ คุณหมอวิโรจน์ ทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญในการรักษาโรคมะเร็ง คือ การรับการรักษาแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปตรวจคัดกรองมะเร็งก็ควรทำ เช่น ผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป ต้องไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ฯลฯ โดยเฉพาะคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง ยิ่งจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเร็วกว่าคนทั่วไป เป็นต้น
นวัตกรรมรักษา “โรคหัวใจ” เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย
หัวใจนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก หัวใจที่มีขนาดเท่ากำปั้นของแต่ละคนกลับมีกลไกมากมาย เพราะมีทั้งระบบไฟฟ้าและระบบปั๊มน้ำในตัวเอง หากกลไกใดของหัวใจมีปัญหาย่อมกระทบต่อส่วนต่างๆ ในร่างกาย
รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ อาจารย์แพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และเป็นผู้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียมสำเร็จรายแรกของไทย เริ่มต้นด้วยการเล่าถึง 5 อาการหลักๆ ของ “โรคหัวใจ”
ได้แก่ 1.หัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease) 2.ภาวะลิ้นหัวใจเสื่อม (Valvular Heart Disease)
3.ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) 4.หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) และ 5.หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Death) โดยปัจจุบัน การรักษาแต่ละอาการมีนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ที่น่าสนใจอย่างมาก
ยกตัวอย่าง “หัวใจขาดเลือด” ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจตีบไม่สามารถไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและหัวใจวายตามมา วิธีการรักษาที่ทำบ่อยสุดคือ การใส่ขดลวดหรือการทำบอลลูนในเส้นเลือดส่วนที่ตีบให้ขยายตัวและสุดท้ายคือการผ่าตัด (Bypass) ซึ่งต้องเปิดหน้าอกและผ่าตัดหัวใจ
“นวัตกรรมด้านขดลวดมีสูงมาก เช่น ฝังยาในขดลวดเพื่อยืดเวลาที่ขดลวดจะตันออกไปให้ยาวขึ้น พัฒนาขดลวดให้สลายลิ่มที่อุดตันให้หายไปได้ ช่วยให้ไม่ต้องกินยากันหลอดเลือดแข็งตัวหรือยาละลายลิ่มเลือดและพยายามพัฒนาให้การรักษาด้วยขดลวดดีเทียบเท่า Bypass แต่การศึกษาระบุชัดว่าคนไข้บางกลุ่มเหมาะจะทำบอลลูน บางกลุ่มเหมาะทำขดลวด และบางกลุ่มทำได้แค่ Bypass”
ขณะที่การรักษา “ลิ้นหัวใจเสื่อม” มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย จากเดิมที่ใช้วิธีเอาลิ้นหัวใจเดิมออกแล้วเย็บลิ้นหัวใจเนื้อเยื่อใหม่เข้าไป ปัจจุบันมีเทคโนโลยียอดนิยมที่เรียกว่า TAVI เป็นการนำสายยางใส่เข้าไปทางขาหนีบแล้วนำลิ้นหัวใจใหม่ใส่เข้าไปในสายยางให้วิ่งไปถึงจุดที่ต้องการ แล้วทำ็บลิ้น แล้ว มีคนไข้ที่ใช้วิธี ให้ลิ้นหัวใจใหม่กางออกเพื่อทำงานแทนที่ลิ้นหัวใจเดิม โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็วกว่า ปัจจุบันมีคนไข้ที่ใช้วิธี TAVI มีชีวิตอยู่ต่อมาแล้วกว่า 10 ปี
“ในอนาคต คนที่มีปัญหาลิ้นหัวใจ โอกาสที่จะใช้วิธีผ่าตัดน่าจะน้อยลงมาก นี่ถือเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกของการรักษาและช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจแบบลิ้นหัวใจเสื่อมดีขึ้นอย่างมาก”
ขณะที่ปัญหา “ลิ้นหัวใจรั่ว” จากเดิมที่เคยใช้วิธีผ่าตัดและเย็บซ่อมแซม ก็ใช้วิธีใส่อุปกรณ์เข้าไปในสายยางแล้วให้อุปกรณ์วิ่งไปถึงจุดที่รั่วจากนั้นอุปกรณ์จะจับเอาส่วนของลิ้นหัวใจที่รั่วทั้ง 2 ด้านหนีบเข้าหากัน ทำให้จากที่รั่วมากก็รั่วน้อยลง วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ผ่าตัดไม่ได้ เช่น อายุมาก แต่ลิ้นหัวใจรั่วมาก
สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว ปัจจุบันมาตรฐานการรักษาคือการปลูกถ่ายหัวใจหรือผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจากผู้บริจาคไปใส่ในตัวคนไข้ แต่เพราะคนรอเปลี่ยนหัวใจเยอะกว่าคนบริจาคมาก จึงเกิดนวัตกรรม “หัวใจเทียม” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เหมือนหัวใจ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะประสิทธิภาพการรักษายังไม่ดีเท่าเครื่องพยุงหัวใจอาจารย์ปรัญญา เล่าว่า “เครื่องพยุงหัวใจ” ถือเป็นนวัตกรรมที่มาทดแทนการเปลี่ยนหัวใจปัจจุบันมีคนไทยใส่เครื่องพยุงหัวใจแล้ว 12 เครื่อง ตกเครื่องละ 1 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น จากวันที่รักษาผ่านมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี ยิ่งปัจจุบันเป็นเครื่องรุ่นใหม่ประสิทธิภาพก็ยิ่งดีขึ้น เครื่องเล็กลง ใส่ง่ายขึ้น”
“สำหรับโรคหัวใจ ขอเน้น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการป้องกัน เราต้องไปตรวจร่างกายเพื่อดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงสูงแค่ไหน โดยเฉพาะการตรวจ LDL (ไขมันไม่ดี) ซึ่งโดยทั่วไปควรรักษาให้อยู่ที่ระดับ 100 mg/dL แต่ถ้าครอบครัวไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจก็อาจสูงได้ไม่เกิน 130 mg/dL เรื่องที่สอง ปัจจุบันนวัตกรรมดีมาก ถ้ามีญาติผู้ใหญ่เป็นโรคหัวใจอย่าคิดว่าแก่ไปแล้ว หมอคงทำอะไรไม่ได้อยากให้มาคุยกับหมอก่อน เพราะผู้ป่วยสูงวัยหลายรายสามารถเปลี่ยนจากการนั่งรถเข็นทำอะไรไม่ได้ กลับมาใช้ชีวิตปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เงินรักษาสูงหน่อย”
10 เทคนิคห่างไกลโรคหัวใจ
- มีไลฟ์สไตล์ที่ดีเป็นแนวทางป้องกันที่สำคัญที่สุด
- คนที่อายุ 40 ขึ้นไป ต้องเริ่มประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจของตัวเอง
- ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ออกกำลังกาย (เน้นคาร์ดิโอ) ติดต่อกันอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
- งดสูบบุหรี่
- ลดหรืองดแอสไพริน โดยเฉพาะคนอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป
- ความดันโลหิตต้องไม่เกิน 130/80 ถ้าเกินกว่านี้เข้าข่ายความดันโลหิตสูง
- คนเครียดเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่จิตใจเบิกบาน
- วิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ไม่ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ยกเว้น Omega3 ที่พอช่วยลดความเสี่ยงได้
- นอนหลับน้อยกว่า 6 ชม. ไม่ได้ นอนเกินกว่า 9 ชม.ไม่ดี
“สมองเสื่อม” ชะลอได้ มีความสุขได้ แม้รักษาไม่หาย
“ขอบอกก่อนว่า สมองเสื่อมไม่ใช่คุณสมบัติของผู้สูงอายุนะคะ ผู้สูงอายุทุกคนไม่จำเป็นต้องสมองเสื่อม คนสูงอายุที่ยังเรียนรู้ได้ ลูกหลานสอนเล่น Line สอนซื้อของออนไลน์ แม้จะบ่นหน่อยแต่ 3-4 วันก็ทำได้ อย่างนี้ถือว่ายังปกติ” ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เกริ่น
อาจารย์สิรินทร อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างโรคสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ โดยย้ำว่าอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคสมองเสื่อม เกิดจากเซลล์สมองส่วน Hippocampus เสื่อมและตายไป ขณะที่อีกสาเหตุสำคัญของโรคสมองเสื่อมยังมาจากการที่หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี ซึ่งคนไข้โรคหัวใจที่มีอาการหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ มีโอกาสเป็นสมองเสื่อมจากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี ตรงกันข้ามพฤติกรรมใดที่ทำแล้วดีต่อหัวใจก็มักจะดีกับสมองด้วย
“สมองเสื่อม หมายถึงคนที่ความสามารถทางสมองเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง แล้วทำให้ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ดีเท่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียความสามารถจนเหลือศูนย์ และเป็นการสูญเสียความสามารถของสมองอย่างน้อย 1 ใน 6 ด้าน ในระดับที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับชีวิตและสังคม”
ความสามารถทางสมอง 6 ด้าน ได้แก่ 1.การคิด วางแผน และจัดลำดับ (Executive Function) 2.การพูดและเข้าใจภาษา (Language) 3.การเรียนรู้และความจำ (Learning & Memory) 4.การเคลื่อนไหว และมิติสัมพันธ์ (Motor & Visuospatial Function) 5.การมีสมาธิ (Attention) และ 6.การเข้าสังคมและทำกิจกรรมสังคม (Social Activities)
“ข่าวร้ายคือ วันนี้เรายังไม่มีนวัตกรรมใหม่สำหรับรักษาอาการสมองเสื่อม สิ่งที่หมอทำอยู่ทุกวันนี้ คือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีอยู่กับครอบครัว และยังรู้สึกรักกัน จำกันไปได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่การป้องกัน ถ้าหมายถึงการทำให้ไม่เป็นโรคเลย ก็ไม่มีวิธีป้องกันอีก แต่มันมีวิธีที่จะช่วยชะลออาการสมองเสื่อมได้”
ยกตัวอย่าง การพบปะเพื่อนฝูง การฝึกร้องเพลง การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การฝึกจำ จะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุชะลออาการสมองเสื่อมได้ จากถ้าไม่ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ ผู้สูงอายุนั้นอาจจะมีอาการสมองเสื่อมในช่วงอายุ 70 ปี แต่ถ้าทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำอาจจะทำให้เกิดอาการในอายุ 99 ปี
ขณะที่การศึกษาพบว่ายังไม่มียาขนานใดที่ช่วยแก้ปัญหาหรือป้องกันสมองเสื่อมได้ ยกเว้น Omega3 ที่พอช่วยได้บ้าง ส่วนแปะก๊วย แม้จะพอช่วยเรื่องสมองเสื่อมได้ แต่ยังไม่ดีพอที่การแพทย์จะรับให้เป็นยารักษาโรคสมองเสื่อม
อาจารย์สิรินทร แนะนำว่า คนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อมอาจตรวจดูแนวโน้มว่าตัวเองจะเป็นหรือไม่ ได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากสังเกตตัวเองว่าความสามารถทางสมองยังดีเท่าเดิมหรือไม่ โดยต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หรือไปทดสอบสมรรถนะของสมองที่โรงพยาบาล ซึ่งจะมีกระบวนการทดสองและเทียบกับคนอายุและการศึกษาระดับเดียวกัน หรืออาจจะใช้วิธีสแกนสมองด้วย PET Scan เพื่อดูความผิดปกติของสมอง หรือ SPEC เพื่อดูฟังก์ชันการทำงานของสมองขณะที่มีการทำกิจกรรมต่างๆ
เธอย้ำว่า ยังไม่มี Test ไหนหรือการตรวจใดที่บอกได้ทันทีว่าผลแบบนี้ผิดปกติหรือปกติ และมีคนไข้หลายคนที่ตรวจครั้งเดียวแล้วยังไม่เห็นอาการ
“ถ้าตรวจแล้วพบว่าคุณมีรอยโรค อย่ากังวล ทำใจให้เบิกบาน ถ้าเจอก็รักษา คนชอบคิดว่าถ้าเป็นสมองเสื่อมต้องแย่ ปรากฏว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งที่เมื่อมีชีวิตอยู่ เอ็กซเรย์สมองก็เห็นลักษณะสมองฝ่อแบบอัลไซเมอร์ เมื่อตายแล้วเอาเนื้อสมองไปตรวจก็มีลักษณะแบบอัลไซเมอร์ แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีอาการสมองเสื่อมเลย ซึ่งเมื่อไปศึกษาดูก็พบว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนร่าเริง เบิกบาน แอคทีฟ ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบแต่งกลอน ฉะนั้น ถึงแม้คุณจะมีรอยโรค แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณต้องมีอาการ ถ้าสมองส่วนอื่นทำงานได้ดี อาการสมองเสื่อมก็อาจจะไม่ปรากฏออกมาตลอดชีวิตก็ได้”
เธอทิ้งท้ายว่า โรคร้ายแรงส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าเจอเร็ว เข้าไปคุยกับหมอเพื่อวางแผนการรักษาเร็ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาให้หายขาด คือ ดูแลให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยแม้อยู่ระหว่างรักษาอย่างมีชีวา มีความสุข และมีคุณภาพ
12 ข้อปฏิบัติชะลอสมองเสื่อม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า และสมองเสื่อม
- เลิกสูบบุหรี่ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความจำ เมื่อเลิกบุหรี่ พบว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
- ดูแลเรื่องโภชนาการ อาหารต้องประกอบด้วย ผัก ผลไม้ ปลา เป็นหลัก หรือเน้นกินอย่างสมดุล และครบทั้ง 5 หมู่ ยังไม่มีงานวิจัยที่รับรองว่า วิตามินและอาหารเสริมใดๆ ช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
- ลดละเลิกการดื่มสุรา
- ส่งเสริมศักยภาพสมอง โดยหมั่นทำกิจกรรมฝึกสมองแต่ละฟังก์ชัน
- หมั่นทำกิจกรรมทางสังคม งานวิจัยชี้ว่าความเหงา และการไร้สังคม มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการสมองเสื่อม
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- คุมความดันโลหิตสูงให้อยู่ในอัตราปกติ เพื่อเลี่ยงผลกระทบต่อทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- จัดการอาการโรคเบาหวาน การศึกษาพบว่าโรคเบาหวานในผู้สูงอายุ สร้างความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน
- จัดการกับระดับไขมันในเลือด เพื่อเลี่ยงภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิด Stroke หรือสมองขาดเลือด ซึ่งนำไปสู่สมองเสื่อมได้
- จัดการดูแลภาวะซึมเศร้า เพราะถ้าเศร้าเรื้อรังจะทำให้เนื้อสมองเสียไป และอาจทำให้เป็นสมองเสื่อมได้
- ดูแลความสามารถในการได้ยิน เพราะเมื่อได้ยินไม่ชัดย่อมสื่อสารกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ซึ่งมักนำไปสู่การแยกตัวและส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ