พระไพศาล วิสาโล ภูมิคุ้มกันชีวิต “กายปลอดเชื้อ ใจปลอดทุกข์”
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 52 | คอลัมน์ People
นับตั้งแต่ปลายปีก่อนมาจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ไม่มีวันไหนที่เราจะไม่ได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 จากจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อเรือนหมื่นและเสียชีวิตนับพัน ในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน สถานการณ์แผ่ขยาย ตามการเดินทางเคลื่อนตัวของผู้ติดเชื้อที่เป็นพาหะของโรคไปยังประเทศต่างๆ กระทั่งกลางเดือน มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับการระบาดของเชื้อ COVID-19 เป็น Pandemic โรคระบาดร้ายแรงที่มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก
ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ณ วันที่ 30 เม.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นทะลุ 3 ล้านคน และเสียชีวิตสูงกว่า 2 แสนคน ที่สะเทือนใจไม่แพ้กัน คือ ประชากรโลกอาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคระบาดของ COVID-19 ไปอีกหลายเดือน นั่นไม่ได้หมายถึงแค่วิถีชีวิตผู้คนที่จะต้องเปลี่ยนไป แต่ยังรวมไปถึงผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เพียงกระเทือนปากท้อง ยังทำให้เกิดความกลัว ความเครียด และความวิตกกังวล ที่อาจสั่นคลอนจิตใจอย่างรุนแรง
ในสถานการณ์ “ล็อกดาวน์” ประเทศ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผู้คนต้องกักตัวอยู่กับบ้านไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามปกติ คอลัมน์ People ฉบับนี้ กองบรรณาธิการ TRUST ติดต่อขอสัมภาษณ์ทางไกล “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ พระอาจารย์นักวิชาการ นักคิด นักเขียน และนักบรรยายธรรมร่วมสมัย ที่มีผู้ติดตามและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางรูปหนึ่งของประเทศ ซึ่งท่านให้ความเมตตาแก่ TRUST ได้มีโอกาสถ่ายทอดทัศนะและคำแนะนำดีๆ มายังท่านผู้อ่าน นำไปปรับใช้ประคองตัวประคองใจในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ รวมถึงทุกวิกฤตในอนาคตข้างหน้า ได้อย่างมีสติและเปี่ยมพลังใจ
โรคระบาดเกิดขึ้นได้ทุกเวลาเมื่อโลก “ประมาท”
พระอาจารย์ไพศาลแสดงทัศนะต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งกลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิดว่า “เราคงพูดไม่ได้เต็มปากว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เพราะผู้รู้ในวงการระบาดวิทยาทั่วโลกล้วนคาดการณ์ล่วงหน้ามาหลายปีแล้วว่า โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น อยู่ที่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่เท่านั้น หลายปีที่ผ่านมาก็มีการเฝ้าระวังในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศจีนขณะเดียวกันก็มีคำเตือนไปยังรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาว่า ให้เตรียมการรับมือโรคระบาดให้ดี
อันที่จริง 20 ปีที่ผ่านมา มีโรคระบาดเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ซาร์ส (SARS) อีโบลา (Ebola) ซิกา (Zika) เมอร์ส (MERS) เป็นต้น แต่มีการระงับยับยั้งไว้ได้ทัน ไม่แพร่กระจายอย่างครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะโชคด้วย คือ ไวรัสหรือเชื้อเหล่านั้นควบคุมได้ง่าย ไม่เหมือนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 ซึ่งสามารถแพร่กระจายแก่คนอื่นได้โดยผู้ที่เป็นพาหะยังไม่แสดงอาการ จะว่าไปแล้วการที่เชื้อ COVID-19 แพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็วเป็นเพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ รวมทั้งประชาชนทั่วโลกต่างก็ชะล่าใจ ไม่ได้ตระหนักว่าโรคระบาดแบบนี้พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา จึงไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างจริงจัง พอเกิดเหตุขึ้นจึงตกใจ ทำอะไรไม่ถูก กว่าจะมีมาตรการออกมา โรคก็แพร่ระบาดออกไปมากแล้ว ซ้ำต่างคนต่างทำ ไม่มีการประสานหรือร่วมมือกันโดยเฉพาะในระดับนานาชาติ ผลก็คือจำนวนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตจึงเป็นอย่างที่เห็น”
รับมือด้วยการวางกายและใจให้ถูกที่
และเมื่อมาตรการขั้นสูงสุดในการรับมือ COVID-19 คือ การล็อกดาวน์เมือง การเว้นระยะห่างทางสังคม การกักตัว “อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ผู้คนต้องกักตัวทำงานอยู่กับบ้านมานานนับเดือน อาการเบื่อหน่าย วิตกกังวลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์ไม่ปกติที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดทำอย่างไรเราจึงจะคลายความทุกข์ความกังวลลงได้บ้างนั้น พระอาจารย์กล่าวว่า “ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติส่วนใหญ่ เช่น น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ทุพภิกขภัย ความอดอยากหิวโหย หรือแม้แต่สงคราม มนุษย์เราจะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องหลบลี้หนีภัยกันอย่างอลหม่าน ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ แต่ภัยจากการแพร่ระบาด COVID-19 ครั้งนี้ เรากลับไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นเลย สิ่งที่ควรทำคือการอยู่บ้านเพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด
เมื่อมองในแง่นี้นับว่าพวกเราโชคดีมากที่ไม่ต้องเป็นผู้ลี้ภัย เรายังกินอิ่มนอนอุ่นเหมือนเดิม ทุกคนในครอบครัวก็ยังอยู่กับเราพร้อมหน้า หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องกระจัดพลัดพราย อาตมาอยากให้มองในมุมนี้มากๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นทุกข์ หรือบ่นก่นด่าชะตากรรม และถ้ามองแบบนี้แล้วเราจะอยู่บ้านอย่างมีความสุขมากขึ้น
อีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือ เราจะปลอดภัยได้ ไม่ใช่เพียงเพราะการกักตัวอยู่บ้านเท่านั้น แต่ใจของเราเองก็ควรอยู่กับปัจจุบันด้วย ไม่เช่นนั้น แม้ร่างกายปลอดเชื้อ แต่ใจจะไม่ปลอดทุกข์เลย เพราะถูกความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด หรือความเหงาเข้าเล่นงาน คนโบราณว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา” แม้กายจะปลอดภัย แต่ใจไม่ปลอดทุกข์ก็เพราะความคิดฟุ้งซ่าน ที่ชอบพะวงถึงอนาคต สร้างภาพอนาคตในทางลบทางร้าย จนเกิดความวิตกกังวล ทั้งๆ ที่ภาพที่ปรุงแต่งอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เราจึงต้องพยายามกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ชื่นชมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว ขอบคุณที่เรายังกินอิ่มนอนอุ่นและมีชีวิตที่สะดวกสบายในบ้านของตน
ขณะเดียวกันก็ควรหาอะไรทำ อย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้ว่างเกินไป และอย่ามัวแต่ใช้เวลามากมายในการเสพข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้ข่าวร้ายก็เยอะ ข่าวลือก็มาก ดังนั้น นอกจากรักษาระยะห่างทางสังคม เราควรรักษาระยะห่างทางจิตใจ เสพหรือนึกถึงข่าวสารที่ทำให้กังวลน้อยลง เอาเวลาไปทำสิ่งดีๆ ที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์ และเห็นผลชัดเจน เช่น จัดบ้าน สะสางข้าวของที่รกบ้าน วาดรูป ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย พัฒนาทักษะหาความรู้ หมั่นฝึกเจริญสติ หรือช่วยเหลือคนที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน ไม่ว่าในละแวกบ้านหรือที่อื่นๆ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพลังบวกให้แก่จิตใจ ทำให้ใจหายห่อเหี่ยว สิ้นเรี่ยวแรง หรือ เหงาหงอย ไปได้”
รักษาสมดุลด้วย “สติ”
เมื่อพูดถึงความหวาดวิตกว่าตนเองจะเป็นผู้ติดเชื้อ หลายคนเข้าขั้นหวาดระแวงคนรอบข้าง หรือก่อนหน้านี้ก็มีการกักตุนอุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากาก แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ แม้กระทั่งอาหารการกินจนเกินพอดี พระอาจารย์มีคำแนะนำในการสร้างจุดสมดุลระหว่างความ “ไม่ประมาท” และ “ไม่ประสาท” จนเกินไปว่า “ในยามนี้เราไม่ควรประมาทกับโรค COVID-19 อย่าคิดว่าแต่ไปสังสรรค์กับเพื่อน ฉลองวันเกิดกับเขาสักหน่อย จะเป็นไรไป แค่ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง เพราะคนที่คิดแบบนี้ เราก็เห็นแล้วว่าติดเชื้อกลับมาแพร่ให้คนในครอบครัวมานักต่อนักแล้ว บางคนก็ถึงกับเสียชีวิต หรือทำให้คนที่รักต้องตายเพราะโรคนี้ ฉะนั้น เวลามีความคิดแบบนี้ก็ให้ “ตั้งสติ” เอาไว้ เพื่อเตือนไม่ให้พาตัวเองไปเสี่ยง จนอาจกลายเป็นคนแพร่เชื้อให้กับคนอื่นและคนที่เรารักเสียเอง
ในสถานการณ์นี้ เราไม่ควรประมาทก็จริง แต่ก็อย่าให้ถึงขั้นประสาทเสีย เพราะมันจะสร้างปัญหาในอีกแบบหนึ่ง อาการประสาท คือ การตื่นตระหนก ตกใจ ซึ่งสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง สร้างปัญหาให้คนอื่น คนส่วนใหญ่ในเมืองไทยเชื้อยังไม่เข้าสู่ร่างกาย แต่กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถึงขั้นความดันขึ้น บางทีก็ไอขึ้นมาแบบอุปาทาน เพราะความตื่นตระหนกความหวาดวิตก หรือความกลัว”
“สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้ตระหนักคือ นอกจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดแล้ว ความกลัวเชื้อ COVID-19 ก็ระบาดไปกว้างไกลมากด้วย ตอนนี้ตัวเลขของรัฐบาลไทยระบุว่า คนติดเชื้อมีจำนวนหลักพัน แต่คนไทยที่ถูกความกลัวเล่นงาน มีเป็นล้านหรืออาจสูงถึงสิบล้านก็ได้ ความกลัวติดเชื้อนั้นน่ากลัวกว่าตัวเชื้อ COVID-19 เองเสียอีก เพราะมันไม่เพียงบั่นทอนจิตใจเรา จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ยังบั่นทอนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว ความต้องการเอาตัวรอดโดยไม่ตระหนักว่าจะก่อให้เกิดปัญหาส่วนรวม ไปจนถึงขั้นระบายอารมณ์โกรธใส่คนที่คิดว่าติดเชื้อ รังเกียจเหยียดหยาม มองเขาเป็นเชื้อโรคหรือเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง จนถึงขั้นผลักไสหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน อย่าลืมว่า ทันทีที่เรามองเขาไม่เป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ในตัวเราก็หายไปด้วย
ถ้ามองในแง่นี้ ความกลัวเชื้อ COVID-19 จึงน่ากลัวกว่าเชื้อ COVID-19 เพราะมันสามารถทำให้ปัญหาต่างๆ ลุกลาม ทั้งปัญหาสาธารณสุข ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และการกัดกร่อนจิตวิญญาณของเราให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น เราต้องมี “สติ” รู้ทันความกลัว ความตื่นตระหนก อย่าปล่อยให้มันบงการความคิด คำพูด และการกระทำของเรา จนตัวเองเป็นทุกข์และสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น
“สติ” ไม่เพียงช่วยป้องกันความกลัวครอบงำจิตใจ แต่ยังสามารถป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายด้วย เพราะโรค COVID-19 เรียกร้องให้เราต้องมีสุขนิสัยใหม่ กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ และที่สำคัญกว่านั้นคือ การไม่เอามือไปสัมผัสใบหน้า แต่มีงานวิจัยพบว่าคนเราเอามือสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัว 15-23 ครั้งต่อชั่วโมง ดังนั้น สุขนิสัยใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะขัดกับธรรมชาติของคนเรา ยิ่งพอใส่หน้ากากก็ยิ่งเอามือสัมผัสใบหน้าบ่อยขึ้น การจะยั้งมือได้ทันไม่ให้เอามาสัมผัสใบหน้าได้ จะต้องมีสติตื่นรู้ หรือถ้าจะสัมผัสใบหน้าก็ได้แต่ต้องล้างมือก่อน ดังนั้น ในการสร้างสุขนิสัยใหม่ สติจึงสำคัญมาก การสร้างสุขภาพจิตที่ดี ก็หนีไม่พ้นสติเช่นกัน”
ทำบุญที่ใจ ไม่จำเป็นต้องเข้าวัด
“หากโชคร้าย ต้องเจ็บป่วยด้วยเชื้อ COVID-19 หรือมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ เราควรต้องตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก พึงระลึกว่าป่วยกายแล้ว อย่าปล่อยให้ใจป่วยไปด้วย เพราะป่วยกายยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าป่วยใจด้วยก็จะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นเหมือนทุกข์คูณสาม หากติดเชื้อไวรัสโคโรนาก็ควรตระหนักรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งข้อเท็จจริงขององค์การอนามัยโลกพบว่า 80% ของคนที่ติดเชื้อ จะมีอาการไม่มากนัก มีแค่ 15% ที่ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และมีเพียง 5% ที่ต้องไปเยียวยาในห้องไอซียู
เมื่อป่วย ก็ควรรักษาตัวด้วยยาหรือไปหาหมอ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลจิตใจด้วย เริ่มจากยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าผลักไส หรือตีโพยตีพาย แล้วน้อมใจให้เป็นสมาธิ จิตจะได้ไม่ว้าวุ่น จะใช้วิธีสวดมนต์ด้วยก็ได้ น้อมนึกถึงพระพุทธองค์ ศรัทธาที่เกิดขึ้นจะช่วยให้จิตเกิดความปีติปราโมทย์และความผ่อนคลาย จิตที่สบายย่อมจะช่วยกายให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หากมีคนรู้จักเกิดเจ็บป่วยขึ้นมานอกจากคำแนะนำที่กล่าวไปแล้ว ก็ควรพูดให้เขามั่นใจว่าเราจะไม่ทิ้งเขา จะอยู่เคียงข้างเขา แม้ว่าโรค COVID-19 จะไม่อนุญาตให้อยู่ใกล้กันได้ก็ตาม แต่แค่เป็นเพื่อนรับฟังความทุกข์ของเขา ฟังทุกเรื่องที่เขาอยากระบาย ก็ช่วยเขาได้มากแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องหาคำพูดสวยหรูเพื่อปลอบใจเขาก็ได้
ปกติแล้ว คนเรามักเข้าวัดทำบุญเวลาที่เจ็บป่วยทางกายหรือมีเรื่องทุกข์ใจ แต่ในที่นี้สถานการณ์เรียกร้องให้เราต้องกักตัวอยู่บ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วการทำบุญก็ไม่จำเป็นต้องทำที่วัดก็ได้ สิ่งสำคัญคือการทำบุญที่ใจ การรักษาใจให้ดี เป็นกุศล ไม่กลัว เกลียด โกรธ หรือตื่นตระหนก ด้วยการเจริญสติ ทำสมาธิ รวมทั้งทำความดีด้วยการให้กำลังใจคนที่กำลังเสียสละเพื่อส่วนรวม อาทิ หมอ พยาบาล ฯลฯ หรือการจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ที่กำลังเสี่ยงภัยเพื่อช่วยให้เรามีชีวิตอย่างปกติสุข เช่น คนเก็บขยะ คนส่งของ หรือคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากเพราะตกงาน เพื่อช่วยให้เขามีชีวิตปกติสุข ในยามนี้ความดีที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อจิตใจของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง”
ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คือ “ภูมิคุ้มใจ”
“ส่วนความวิตกกังวล และความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รู้สึกว่าหนักหนากว่าทุกวิกฤตที่ผ่านมา อาตมาอยากให้มองว่า ไม่นานมันก็จะผ่านไป จะว่าไปคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเจอวิกฤตที่หนักหนาสาหัสกว่าเรามาแล้ว เช่น สงครามโลกครั้งที่สองหรือโรคระบาดครั้งใหญ่เมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งมีคนตายถึง 50 ล้านคน ขณะที่เมืองไทยมีคนตายเกือบ 9 หมื่นคน หรือ 1% ของประชากรทั้งประเทศ หากมองในแง่นี้ พวกเราก็ยังโชคดีกว่ามาก
ไม่ว่าจะทุกข์อย่างไร ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นอดีต แนะนำตอนนี้คืออย่ามัวพะวงหรือวิตกกับอนาคต คิดถึงอนาคตได้ แต่อย่าไปหมกมุ่นกับมันมากเกินไป สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือ อยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ใช้เวลาที่มีอยู่ช่วงนี้พัฒนาทักษะ หาโอกาสใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ ในวิกฤตนั้นมีโอกาสเสมอ มีหลายคนเวลานี้พบช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยนึกฝันมาก่อน
อีกสิ่งที่น่าทำคือ การหาเวลาฝึกจิต เจริญสติบ้าง ตอนนี้ร่างกายเราปลอดภัยเพราะอยู่บ้าน จิตของเราหากมีบ้านอยู่ก็จะปลอดภัยเช่นกัน บ้านของจิตก็คือ ปัจจุบันขณะ ถ้าพาใจอยู่กับปัจจุบัน จิตเราจะมีความอบอุ่น สงบ ผ่อนคลายไม่ฟุ้งซ่าน แส่ส่าย เครียด หรือกังวล นี่เป็นช่วงเวลาที่เราจะมอบสิ่งดีๆ ให้กับใจของตน หาเวลาวันละ 10 นาทีก็ยังดี หากทำทุกวันก็จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน
เชื้อโรคอยู่คู่กับมนุษย์ฉันใด ความทุกข์ใจก็อยู่คู่กับมนุษย์ฉันนั้น ภูมิคุ้มกันร่างกายมีความสำคัญในการรับมือกับความเจ็บป่วย หรือเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกายของเราอย่างไร ภูมิคุ้มกันจิตใจ หรือ “ภูมิคุ้มใจ” ก็มีความสำคัญในการรับมือกับความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างนั้น การจะสร้างภูมิคุ้มใจให้เกิดขึ้นก็ทำได้ด้วยการหมั่นเจริญสติ เพราะสติเป็นเครื่องรักษาจิตใจ เรามักทำให้ใจเป็นทุกข์เพราะการไม่มีสติ การนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วหรือสิ่งที่ยังไม่เกิด นี่คือการเติมความทุกข์ให้กับจิตใจ ฉะนั้น สติจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับเหตุการณ์นี้ เพราะสถานการณ์อาจยืดเยื้อยาวนานเป็นปีก็ได้”
เผชิญวิกฤตด้วยสติปัญญา...บนความไม่ประมาท
“…ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์อนาคตสังคมไทย หรือแม้กระทั่งสังคมโลกว่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่เพราะโรคระบาดยังไม่จบ แต่อาตมาคิดว่าถ้าเรารู้จักสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เราจะตระหนักว่าระบบสุขภาพของทุกประเทศทั้งโลกนี้ จะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อรับมือกับโรคระบาดครั้งใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งจะมาถี่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำลายป่าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อขยายที่ทำกินหรือทำฟาร์มขนาดใหญ่ รวมทั้งการค้าสัตว์ป่า ทำให้มนุษย์ทุกวันนี้มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น สัตว์ป่าเหล่านี้เป็นแหล่งรวมไวรัสและแบคทีเรียนานาชนิดที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก ดังนั้น จึงไม่มีภูมิต้านทานเลย
หลังจากวิกฤตครั้งนี้ อาตมาหวังว่าทุกประเทศจะทุ่มเงินเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาเงินไปทุ่มเทกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว เหตุการณ์ COVID-19 ยังชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เราไม่สามารถเอาชนะโรคติดเชื้อได้ และการระบาดของโรคติดเชื้อจะเป็นปัญหาที่มนุษย์เราหนีไม่พ้น ในรุ่นลูกหลานเราก็ต้องเจอโรคใหม่ๆ ตามลำดับ นอกจากโรคเก่าๆ ที่จะยังคงวนเวียนมาอีก อาตมาไม่ได้พูดให้กลัว แต่ให้แง่คิดว่า โรคติดเชื้อจะอยู่คู่โลกไปตลอด ดังนั้น ในระดับบุคคล ทุกคนต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในระดับประเทศและระดับโลก ทุกประเทศต้องร่วมมือกันปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อรับมือกับโรคระบาดครั้งใหม่ในอนาคต
ส่วนสิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ตอนนี้ก็คือ หลังจากที่โรคระบาดครั้งนี้สงบลง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะยังคงปรากฏต่อเนื่องไปอีกนานนับสิบปี แต่จะลงเอยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเผชิญกับผลกระทบเหล่านั้นอย่างไร และใช้สติปัญญามากน้อยแค่ไหน อย่างที่ทราบ ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสวิกฤตครั้งนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้หรือในทางตรงข้าม ก็อาจกระตุ้นด้านมืดของมนุษย์จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แทนที่จะเกิดโอกาสดีๆ ก็จะกลับกลายเป็นวิกฤตอีกครั้งที่หนักกว่าเดิมก็เป็นไปได้เช่นกัน
อย่าลืมว่านอกจากโรคระบาดครั้งใหม่แล้ว วิกฤตจากภัยธรรมชาติก็เป็นอีกอย่างที่มนุษย์ทั้งโลกจะต้องเจออย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโลกร้อน ซึ่งแสดงตัวในหลายรูปลักษณ์ ไม่ว่า น้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำขาดแคลน มลพิษท่วมท้น ฯลฯ จะว่าไปโรค COVID-19 เป็นสัญญาณเตือนว่าเราจะต้องเจอภัยพิบัติที่ใหญ่กว่าเดิม หากเรายังไม่ตื่นตัว ไม่ร่วมมือกันยังคิดเอาตัวรอดเฉพาะตัว แก่งแย่งแข่งดีกัน ไม่ว่าภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ก็เป็นไปได้ว่าความทุกข์ยากครั้งหน้าอาจสาหัสกว่าเดิม…”
เป็นความจริงที่ว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดมักมีเรื่องราวดีๆ แฝงอยู่ วิกฤตครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติได้ฟื้นฟูสภาพขึ้น ในช่วงที่มนุษย์ค่อนโลกถูกกักบริเวณ หรือ โอกาสของมนุษย์ในการเข้าถึงปรัชญาการดำเนินชีวิต ดังคำสอนของพระอาจารย์ไพศาลที่บอกว่า COVID-19 เรียกร้องให้มนุษย์เราต้องมี “สติ” ในการใช้ชีวิตมากขึ้นกว่าปกติ เพราะยามที่ชีวิตสุขสบายราบรื่น คนมักหลงลืมไปว่า ความทุกข์ไม่เคยหนีหายไปจากชีวิตมนุษย์
สติ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราตกอยู่ในความประมาท และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้เราสามารถรับมือกับความยากลำบากและอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจได้อย่างมีพลัง ช่วยให้เราพิจารณาไตร่ตรองเหตุปัจจัยต่างๆ ตามความเป็นจริงอย่างตื่นตัว แทนที่จะเอาแต่ตื่นกลัว เมื่อเราสามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง นั่นคือการมี “ภูมิคุ้มกันชีวิต”
เพราะแน่นอนว่า วิกฤตใหญ่ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ตราบใดที่เรามี “ภูมิคุ้มกันชีวิต” ที่เข้มแข็ง แม้วันข้างหน้าต้องเจอกับวิกฤตที่ใหญ่กว่าหรือความทุกข์ที่รุนแรงกว่า เราก็ย่อมผ่านพ้นไปได้เหมือนที่เราจะผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน
สร้างภูมิคุ้มกันจิตใจด้วยการเจริญสติ
- ขั้นต้นยึดหลักว่า ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ทำทีละอย่าง หรือ เอาใจมาอยู่กับกาย ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ไม่ปล่อยจิตให้ล่องลอย เช่น ทำงาน ใจก็อยู่กับการทำงาน กินข้าว ใจก็อยู่กับการกินข้าว เป็นต้น
- ขั้นต่อมายึดหลัก หมั่นตามดู รู้ใจตัวเอง หรือ กายทำอะไรใจก็รู้ เวลาดีใจก็รู้ เวลาเสียใจก็รู้ เวลาใจลอยก็รู้ สติเปรียบเสมือนตาใน ที่เราใช้ในการตามดูกายว่ากายทำอะไร ใจก็รู้ว่าทำ หากเดินแล้วตกบันไดแบบนี้เรียกใจลอย กายทำอะไร ใจไม่รู้
- การเจริญสติในรูปแบบ อาทิ หลับตาตามลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้สึก หายใจออกก็รู้สึก, มีสติกับการเคลื่อนไหวของมือพลิกมือไปพลิกมือมาก็รู้, การเดินไปกลับระยะ 3-5 เมตร พร้อมเอามือไขว้หลัง หรือกอดอกก็ได้ เวลาเดินก็รับรู้ว่าเท้ากำลังเดิน เป็นต้น ทำวันละ 5-10 นาที เริ่มแรกจิตจะฟุ้ง ก็ไม่ต้องวิตก หากหงุดหงิด ก็ปล่อยวางให้ใจสบาย