จับตา! จีน-ประทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หลังเผชิญภาวะ ‘เงินฝืด’ ยาวนานที่สุดในรอบ 20 ปี
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 70 | คอลัมน์ Smart Investing
ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับปัญหาการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอ แม้ว่าทางการจีนได้พยายามออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่สัญญาณล่าสุดบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินฝืดในจีนยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล
เงินฝืดคืออะไร?
ภาวะเงินฝืด (Deflation) คือ ภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจปรับลดลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ที่หมายถึงภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจปรับสูงขึ้น
โดยสาเหตุหลักของภาวะเงินฝืดเกิดจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจปรับลดลง ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายหรือไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์หรือแนวโน้มเศรษฐกิจ และความมั่นคงของรายได้ในอนาคต รวมถึงผู้บริโภคคาดการณ์ว่าราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับลดลงอีกในระยะต่อไป จึงทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายออกไป ซึ่งการที่ความต้องการซื้อสินค้าและบริการปรับลดลงจะส่งผลให้ภาคธุรกิจ หรือผู้ขายจำเป็นต้องปรับลดราคาสินค้าและบริการลงเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากขึ้น ก่อให้เกิดการแข่งขันทางราคาระหว่างภาคธุรกิจ และถือเป็นผลเสียต่อผลกำไรของภาคธุรกิจที่อาจนำไปสู่การปรับลดต้นทุนผ่านการลดค่าจ้างหรือเงินเดือนพนักงาน หรืออาจมีการลดจำนวนคนงาน และในกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้น เมื่อภาคธุรกิจไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้ ภาคธุรกิจอาจต้องปิดกิจการ ส่งผลให้อัตราการว่างงานของประเทศปรับสูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมถดถอยหากภาวะเงินฝืดรุนแรงและยืดเยื้อ
จีนก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้อย่างไร
เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และในอดีตเคยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึงเกือบ 7% ในช่วงปี 2015-2019 ต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นและความมั่งคั่งของผู้บริโภค โดยในปี 2020-2021 ทางการจีนได้ออกมาตรการเข้มงวดเพื่อลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และควบคุมการก่อหนี้ของบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการใช้นโยบาย Three Red Lines และมาตรการจำกัดการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยนโยบาย Three Red Lines เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์โครงสร้างทางการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อหนี้ ขณะที่มาตรการจำกัดการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นการกำหนดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อสินเชื่อทั้งหมดของสถาบันการเงิน ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีผลกดดันกิจกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้หลายบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องรักษาสภาพคล่องผ่านการเร่งขายที่ดินในราคาต่ำกว่าราคาตลาด รวมถึงต้องยุติหรือหยุดการก่อสร้างในบางโครงการ
นอกจากนี้ วิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงยังมาตอกย้ำสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยทำให้ยอดขายหรือรายได้ของบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ลดลง จนบริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากขาดสภาพคล่องและต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงไม่สามารถส่งมอบบ้านให้แก่ผู้ซื้อบ้านได้ตามกำหนด
วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งราคาบ้านใหม่และราคาบ้านมือสองปรับลดลงต่อเนื่อง และด้วยเหตุที่ความมั่งคั่งของครัวเรือนจีนราว 70% อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รู้สึกว่าความมั่งคั่งของตนปรับลดลง (Negative Wealth Effect) ดังนั้น ผลกระทบจากความมั่งคั่งที่ลดลงส่งผลให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยหรืออุปสงค์ในประเทศของจีนปรับลดลง โดยครัวเรือนจีนมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายเพื่อรักษาความมั่งคั่งของตน ประกอบกับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนอยู่ในระดับต่ำและไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนจีนยังคงอ่อนแอและนำไปสู่แรงกดดันเงินฝืด โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานล่าสุดในเดือนสิงหาคมขยายตัวเพียง 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวมา 23 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ดัชนี GDP Deflator ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับราคาโดยรวมของเศรษฐกิจจีนติดลบต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ไตรมาส ถือเป็นการหดตัวที่ยาวนานที่สุดในรอบ 20 กว่าปี
ทางการจีนมีวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร
ในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนมักให้ความสำคัญกับการลงทุน ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภาคการผลิตเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มักเน้นย้ำวิสัยทัศน์ในเรื่องของการพัฒนากำลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่ (New Quality Productive Forces) เพื่อเป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจีนนับจากนี้ อย่างไรก็ดี การบริโภคในประเทศที่อ่อนแอต่อเนื่องได้กดดันให้ทางการจีนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น โดยในการประชุม Politburo ในเดือนกรกฎาคม 2024 ซึ่งเป็นการประชุมผู้บริหารประเทศระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธานการประชุม ได้มีการระบุว่าจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การกระตุ้นการบริโภคและเน้นส่งเสริมภาคบริการมากขึ้น รวมถึงได้กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ราว 5% ในปีนี้ จะมุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคเป็นหลัก
ความพยายามของทางการจีนในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ จะเห็นได้จากการที่ทางการจีนได้ประกาศเพิ่มเงินอุดหนุนในมาตรการ Trade-in Program ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคนำรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาแลกซื้อของใหม่ในราคาส่วนลด โดยจะให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้บริโภคที่นำรถยนต์เก่าไปแลกซื้อรถยนต์คันใหม่สูงสุดคันละ 20,000 หยวน (ราว 100,000 บาท) จากเดิมที่ให้เงินอุดหนุนคันละ 10,000 หยวน (ราว 50,000 บาท) สำหรับรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ขณะที่เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์แบบเชื้อเพลิงก็ปรับขึ้นจาก 7,000 หยวน (ราว 35,000 บาท) มาเป็น 15,000 หยวน (ราว 75,000 บาท)
ทั้งนี้ ทางการจีนยังให้เงินอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 8 ประเภท เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และคอมพิวเตอร์ อีกราว 15-20% ของราคาสินค้า โดยผู้บริโภคแต่ละรายสามารถรับเงินอุดหนุนการซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 1 เครื่องต่อ 1 หมวดหมู่ และเงินอุดหนุนของแต่ละรายการจะไม่เกิน 2,000 หยวน (ราว 10,000 บาท) เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนของใช้เก่าเป็นของใช้ใหม่ โดยมาตรการ Trade-in Program ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศของจีน
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซาและกู้คืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยในเดือนพฤษภาคม ทางการจีนได้ประกาศมาตรการขนานใหญ่วงเงิน 3 แสนล้านหยวน เพื่อสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจท้องถิ่นเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถขายได้จากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้บรรดาบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องไปต่อยอดในการสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะสามารถส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อได้
ทั้งยังมีการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการจำนอง โดยทางธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศยกเลิกอัตราดอกเบี้ยจำนองขั้นต่ำทั่วประเทศ พร้อมปรับลดสัดส่วนเงินดาวน์ลงสู่ระดับ 15% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก และ 25% สำหรับบ้านหลังที่ 2 จากสัดส่วนเงินดาวน์ก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 20% และ 30% ตามลำดับ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว นับเป็นการดำเนินมาตรการครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาของจีน หลังราคาและยอดขายบ้านยังปรับลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น โดยทางการจีนยังได้มีการออกมาตรการผ่อนคลายข้อกำหนดในการซื้อบ้านรวมถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนอง และยังอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านเดิมสามารถรีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนองได้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของครัวเรือนและหวังกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
ความพยายามดูเหมือนจะยังไม่ได้ผล
แม้ว่าทางการจีนได้ประกาศมาตรการเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมา อย่างต่อเนื่อง แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศยังคงอ่อนแอ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงปรับลดลงและยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินงานตามมาตรการของทางรัฐบาลจีนเป็นไปได้ช้า ส่งผลให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ลง พร้อมเรียกร้องให้ทางการจีนเร่งการดำเนินมาตรการหรือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ดังนั้น ปัญหาแรงกดดันเงินฝืดที่จีนกำลังเผชิญถือเป็นโจทย์สำคัญของทางการจีนในตอนนี้ ว่าจะสามารถหาวิธีดึงความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจจีนหลุดพ้นจากแรงกดดันเงินฝืดได้โดยเร็วที่สุด