ไขความลับอายุยืนของชาว “Blue Zones”
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ Variety
“ขอให้อายุยืน สุขภาพแข็งแรง” คำอวยพรสามัญที่ผู้คนมากมายต่างปรารถนา แม้วัยจะเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลา แต่ทุกคนก็ล้วนต้องการสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ แต่รู้หรือไม่ว่า เป้าหมายที่ผู้คนมากมายต่างถวิลหานี้เกิดขึ้นจริงและเป็นเรื่องปกติในบางพื้นที่ของโลก ที่เรียกกันว่า “Blue Zones”
Blue Zones เป็นคำจำกัดความที่สื่อสารถึงภูมิภาคที่มีประชากรอายุยืนยาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีอายุ 90 – 100 ปี และที่สำคัญยังเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใส และมีความทรงจำที่ดีเยี่ยม ท่ามกลางคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย
โดยแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นจาก Dan Buettner นักสำรวจ นักเขียนและช่างภาพชาวสหรัฐฯ แห่ง National Geographic ที่ได้ตั้งข้อสังเกตต่องานวิจัยของ Gianni Pes และ Michel Poulain เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องราวของกลุ่มประชากรอายุยืนทั่วโลก พร้อมทำเครื่องหมายสีน้ำเงินระบุไว้ในแผนที่สำหรับพื้นที่ที่มีประชากรอายุยืนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ Dan Buettner อยากที่จะค้นลงไปให้ลึกถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเหล่านี้มีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดี ซึ่งหลังจากที่เขาได้ทำวิจัยและลงเก็บข้อมูลตามพื้นที่ต่างๆ จนหาข้อสรุปได้แล้ว จึงได้นำเสนอเรื่องราวของผู้คนแถบ Blue Zones ลงใน The New York Times Magazine เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นพื้นที่ Blue Zones ในปัจจุบันนั้น มีทั้งหมด 5 เมืองจากทั่วโลก ได้แก่ ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น นิคอยา ประเทศออสตาริกา โลมา ลินดาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และอิคาเรีย ประเทศกรีซ สำหรับเมืองที่น่าสนใจและนำมาพูดถึงในบทความนี้คือ โอกินาวา ซาร์ดิเนีย และโลมา ลินดา ที่แม้จะอยู่ต่างทวีปกัน แต่กลับถูกจัดให้เป็นพื้นที่ Blue Zones เหมือนกัน ซึ่งแต่ละเมืองจะมีความเหมือนหรือความต่างในการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีอายุยืนยาวบ้าง ไปดูกัน
มาเริ่มกันที่ประเทศที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุดอย่างโอกินาวา หมู่เกาะทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีอากาศบริสุทธิ์และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมีภูมิอากาศที่อบอุ่น เพราะมีแสงแดดที่ยาวนาน จึงทำให้ผู้สูงวัยของที่นี่มีความสุขกับแสงแดดและได้รับวิตามินดีอย่างเหมาะสมตลอดทั้งปี โดยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวโอกินาวา ก็คือ ทัศนคติที่ดีและการมีวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ซึ่งแตกต่างจากวิถีเร่งรีบและชีวิตเคร่งเครียดแบบชาวญี่ปุ่นทั่วไปอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีชุมชนที่เข้มแข็งและคอยช่วยเหลือกันอยู่เสมอ จึงทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมีเพื่อน ซึ่งทุกเช้าชาวโอกินาวาจะตื่นมา พร้อมกับหลักในการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า อิคิไก หรือเป้าหมายของการตื่นมาในตอนเช้า ทำให้พวกเขาถูกกระตุ้นด้วยเป้าหมายของตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้สูงวัยของที่นี่จะมีการขยับร่างกายเป็นประจำ ด้วยการทำสวนผักหรือสวนพืชสมุนไพร สำหรับอาหารคู่โต๊ะ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มาจากพืช อาทิ เต้าหู้และซุปมิโสะที่ทำจากถั่วเหลือง ซึ่งมีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็งเต้านม หัวมันเทศที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เส้นใย และสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านโรคมะเร็ง ผัดมะระโกยะ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและสารที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
โดยมีหลักในการรับประทาน คือ การเตือนตัวเองให้กินอิ่มที่ร้อยละ 80 เพราะกระเพาะอาหารจะใช้เวลา 20 นาทีในการส่งสัญญาณบอกสมองว่าอิ่มแล้ว ซึ่งการรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ จะทำให้ร่างกายผลิตอนุมูลอิสระที่จะย้อนมาทำร้ายตัวเองจากภายในได้น้อยลง
มาต่อกันที่ Blue Zones แห่งแรกที่ถูกค้นพบอย่าง ซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี เกาะแสนสวยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและมีอากาศอบอุ่นเกือบตลอดทั้งปี ชาวซาร์ดิเนียนิยมใช้การเดินมากกว่าการโดยสารด้วยรถ ทำให้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ส่วนอาหารยอดนิยมของที่นี่ คือ ชีสนมแกะ ที่ยังคงกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ได้ชีสที่มีคุณภาพดีและอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สูง ทั้งยังชอบดื่มนมแพะ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและอัลไซเมอร์ พร้อมเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำและผักในมื้ออาหารหลัก ส่วนคาร์โบไฮเดรตมาจากขนมปังและพาสต้า ส่วนโปรตีนมาจากธัญพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์สำหรับชาวซาร์ดิเนียถือเป็นเพียงเครื่องเคียงหรือไว้ทานสำหรับมื้อพิเศษในวันอาทิตย์หรือโอกาสสำคัญเท่านั้น อีกทั้งยังชอบดื่มไวน์แดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน วันละไม่เกิน 2 แก้วต่อวันกับเพื่อนหรือครอบครัว ที่นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังเพิ่มชั่วโมงแห่งความสุขด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ชาวซาร์ดิเนียให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งคือครอบครัว พวกเขาจึงใส่ใจในเรื่องของการจัดสรรเวลาระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานให้สมดุล และชอบอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น โดยผู้สูงวัยของที่นี่มักช่วยทำงานบ้าน งานสวนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ได้ขยับร่างกายในแต่ละวัน
ในขณะที่โลมา ลินดา เมืองทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นเมืองเดียวในสหรัฐฯ ที่ถือเป็น Blue Zones โดยชาวโลมา ลินดานั้นมีอายุเฉลี่ยที่สูงกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 10 ปี ซึ่งจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าอาจเป็นผลมาจากการนับถือคริสตจักรเซเวนธ์เดย์แอดเวนีทิสต์ ที่มีข้อห้ามด้านอาหารอย่างเคร่งครัด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มประเภทโซดาน้ำหวาน และบางคนที่เคร่งครัดมากๆ จะไม่แตะต้องน้ำตาลเลย และเลือกเติมความหวานจากผลไม้แทน อีกทั้งพวกเขายังนิยมการบริโภคอาหารวีแกนที่เน้นธัญพืชตามพระคัมภีร์เป็นหลัก รวมถึงให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้าและมื้อเที่ยง ส่วนมื้อเย็นทานแต่น้อยและทานแต่หัวค่ำ เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้ปริมาณแคลอรีเอ่อล้นร่างกายในช่วงเวลาที่ไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก ซึ่งจะทำให้การนอนหลับดีขึ้นด้วย ในส่วนของชุมชนที่นี่ มีความเข้มแข็งและปลอดภัยเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีภูมิทัศน์แบบ Active Landscape จึงทำให้ประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้การเดินไปยังที่ต่างๆ ในเมือง มากกว่าการโดยสารด้วยรถยนต์ ที่นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังช่วยให้ได้ขยับร่างกายต่อวันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมส่งเสริมให้มีกิจกรรมร่วมกัน อย่างจุดนัดพบ พูดคุย ออกกำลังกายที่บริเวณจัตุรัสกลางเมือง
แม้ว่าทั้ง 3 เมืองจะมีแนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทั้ง 3 แห่งมีความคล้ายกันนั้นก็คือ การขยับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เน้นรับประทานผัก รับประทานอาหารแต่ละมื้อเพียงแค่ 80% เพื่อไม่ให้อิ่มจนเกินไป จิบไวน์เล็กน้อยต่อวันในระหว่างมื้ออาหารหรือกับเพื่อน มีเป้าหมายในชีวิต รู้จักปล่อยวางความเครียด ยึดมั่นในศาสนา อยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ตรงกับแนวทางหลักของพฤติกรรม The Power 9 ที่ Dan Buettner ได้สรุปเอาไว้ โดยเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนมีมีชีวิตยืนยาวตามสไตล์ชาว Blue Zones